ปัจจุบันเราคุ้นชินกับสื่อสารด้วยสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต แต่สมัยก่อนการสื่อสารที่ขึ้นชื่อว่าเร็วและใช้สำหรับส่งข้อความด่วนเท่านั้น นั่นก็คือ "ตะแล้ปแก๊ป" หรือ “โทรเลข” (คาดว่ามาจากคำว่า telegraph เท-เล-กราฟ บวกกับเสียงตอนส่ง) โดยนิยมส่งเป็นข้อความสั้น ๆ เพราะค่าบริการคิดตามจำนวนคำที่ใช้ส่ง เช่น “กลับ บ้าน ด้วย พี่ บวช” เป็นต้น
เครื่องรับส่งโทรเลขเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกันด้วยสายสัญญาณ โดยเครื่องส่งอาศัยการปิดเปิดไฟฟ้าในการส่งสัญญาณไปยังปลายทาง และเครื่องรับอาศัยหลักการแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างแรงกดในการขีดบนแถบกระดาษหรือสร้างสัญญาณเสียง จุดขีดเหล่านี้คือ รหัสมอร์ส ซึ่งแทนตัวอักษรนั่นเอง
ในไทยมีการใช้โทรเลขอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2418 โดยกรมพระกลาโหม (ในสมัยนั้น) เป็นผู้ดูแล สายโทรเลขสายแรก ได้แก่ โทรเลขสายกรุงเทพ – ปากน้ำ ใช้เพื่อการส่งข้อมูลเรื่องเรือสินค้าที่ทำการเข้าออก หลังจากนั้นได้มีการวางสายโทรเลขเพิ่มเติมจนทั่วประเทศ และเชื่อมต่อกับสายต่างประเทศด้วย ในปี พ.ศ. 2455 มีการสร้างรหัสมอร์สภาษาไทย ทำให้กิจการโทรเลขสามารถเปิดใช้บริการกับประชาชนทั่วไปได้
ช่วงปี พ.ศ. 2528 เป็นช่วงที่โทรเลขได้รับความนิยมสูงมาก โดยมีการรับส่งถึง 8.3 ล้านฉบับ ค่าบริการในสมัยนั้นคือ คำละ 1 บาท หากเราส่งคำว่า “สวัสดี พ่อ และ แม่” เราจะต้องเสียค่าบริการถึง 4 บาท ซึ่งอาจเท่ากับก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามหรือข้าวหนึ่งมื้อในสมัยนั้นเลยทีเดียว
ปัจจุบันโทรเลขในไทยได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 รวมเวลาที่เปิดให้บริการใน 133 ปี โดย บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดูแลกิจการโทรเลขให้เหตุผลว่า มีผู้ใช้บริการน้อยลง อุปกรณ์ตกรุ่น และไม่คุ้มที่จะบำรุงรักษา
หลายท่านอาจมีความทรงจำเกี่ยวกับโทรเลขมากมาย แต่การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ การเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงจำเป็นสำหรับเรา และทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น หรือมันอาจเป็นความทรงจำบทใหม่ของเราก็ได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
[1] ยุคสมัยที่กำลังหมดไป "โทรเลขไทย" เทคโนโลยีแรกย่อโลก [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 15 ส.ค. 64) เข้าได้จาก https://mgronline.com/science/detail/9510000048288
[2] โทรเลข [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 15 ส.ค. 64) เข้าได้จาก https://guru.sanook.com/5836/
[3] โทรเลข [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 15 ส.ค. 64) เข้าได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%82
[4] ลาก่อนโทรเลขไทย บันทึกไว้ในความทรงจำสีจาง [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 15 ส.ค. 64) เข้าได้จาก https://prachatai.com/journal/2008/05/16686
เรียบเรียง: ธานี หลินลาโพธิ์
ตรวจทาน: วรรณวจี สุจริตธรรม
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ