30 กรกฎาคม 2563 / ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการประสานงานร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อตอบรับนโยบายของรัฐบาลกับยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการพัฒนาขีดความสามารถ ทักษะ และการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สู่ทุกภาคส่วน โดยการประชุมจัดขึ้น ณ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ชวนเยาวชนมาสร้างสรรค์จินตนาการผ่านตัวต่อรูปสี่เหลี่ยมที่ทุกคนคุ้นเคย กับ นิทรรศการ LEGO® Coding Space ร่วมสัมผัสทักษะการเป็นผู้สร้างผ่านชุดการเรียนรู้จาก LEGO® สนุกไปกับกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ฝึกทักษะ โดยการลงมือปฏิบัติจริง (Hands-on experience) เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “ปัจจุบันสื่อการเรียนรู้เพื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มีการพัฒนาให้มีความหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น อพวช. เองถือเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สำคัญและมีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม จึงได้นำ นิทรรศการ LEGO® Coding Space มาจัดแสดงโดยได้รับความมือจาก บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกทักษะโดยการลงมือปฏิบัติจริง (Hands-on experience) ได้คิด ประดิษฐ์ และสร้างสรรค์จินตนาการผ่านชุดการเรียนรู้จาก LEGO® ภายในนิทรรศการจะได้พบกับ LEGO® ตัวต่อรูปสี่เหลี่ยมที่ทุกคนคุ้นเคย ร่วมเดินทางและสัมผัสทักษะการเป็นผู้สร้าง ท้าทายจินตนาการด้วยการลงมือทำผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ”
นิทรรศการ LEGO® Coding Space ประกอบไปด้วย 4 โซน ดังนี้
โซนที่ 1 ผนังแห่งจินตนาการ (Wall of Imagination) – ทดลองใช้ White Brick สร้างเมืองจินตนาการ โดยใช้ความคิด สร้างสรรค์ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมในอนาคต
โซนที่ 2 ทักษะสร้างโลก (Skill of Creator) – เรียนรู้ทักษะหรือแนวคิดที่จำเป็นในการเป็น Creator
โซนที่ 3 เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing) – เน้นการลงมือทำโดยให้เด็ก ประกอบรถ แล้วนำมาแข่งในราง โดยเด็กสามารถสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเองได้ เช่น วิ่งช้าเป็นผู้ชนะ เป็นต้น
โซนที่ 4 ภารกิจพิชิตความท้าทาย (Challenge the Mission) – เรียนรู้การแข่งขันด้วยโจทย์ที่ท้าทายเพื่อต่อยอดนวัตกรรมในอนาคต
สำหรับผู้เข้าชมที่สนใจชมและทำกิจกรรมใน นิทรรศการ LEGO® Coding Space สามารถเข้าชมได้ฟรี ! โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เปิดบริการทุกวันอังคาร – ศุกร์ เวลา 09.30 -16.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 -17.00 น. (ปิดบริการทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2577-9999 ต่อ 2122, 2123 หรือ www.nsm.or.th
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ (ลำดับที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับสมาคมเครื่องบินกระดาษพับมอบรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 16 เพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ ฝึกทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ผลปรากฏว่า ด.ช.นรภัทร ทรงเต๊ะ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองในรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และ นายชัยธวัช เลนสันเทียะ คว้ารางวัลชนะเลิศในรุ่นทั่วไป โดยทั้งคู่จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับนานาชาติ ณ ประเทศญี่ปุ่นในปี 2563
ด.ช.นรภัทร ทรงเต๊ะ รางวัลชนะเลิศ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี
นายชัยธวัช เลนสันเทียะ รางวัลชนะเลิศ รุ่นทั่วไป
22 กรกฎาคม 2563 / อพวช. จัดงาน "Zero Waste Day" เพื่อรณรงค์ สร้างความเข้าใจ ก่อให้เกิดความตระหนักเรื่องการลดขยะภายในองค์กรและพื้นที่โดยรอบ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการลดปริมาณขยะให้เหลือศูนย์ให้กับบุคลากรของ อพวช. โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน และ ดร.กรรณิการ์ เฉิน ประธานคณะกรรมการ โครงการลดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) อพวช. ให้การต้อนรับ และนำชมบูธกิจกรรมให้ความรู้ภายในงาน ณ อพวช. พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
วันที่ 27 กันยายน 2562 / ปทุมธานี -- องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำนักงานกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม The Plastic Initiative Awareness Raising Event โดยเชิญผู้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ ร่วมจัดกิจกรรม อาทิ คุณชาร์ลี วินสตัน (Charlie Winston) นักร้องนักแต่งชื่อดังเพลงชาวอังกฤษ จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักผ่านบทเพลงให้กับเยาวชนไทย พร้อมการบรรยายพิเศษโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 2019 คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงหัวใจอนุรักษ์ ผู้ก่อตั้ง EEC Thailand (Environmental Education Centre Thai), เมดาลีน เร็กนาเกล ผู้นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปลอดพลาสติก x การบำบัด x ขยะเป็นศูนย์ ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า วิกฤตขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหารุนแรงที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข อพวช. มีภารกิจหลักในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม จึงเข้ามามีบทบาทในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน และเป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมแก้ปัญหาที่สำคัญนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมีทั้งคุณและโทษ พลาสติกก็เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า พลาสติกเป็นนวัตกรรมที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาในทุกด้าน ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน แต่พลาสติกเหล่านี้จะกลายเป็นขยะเมื่อหมดอายุการใช้งาน ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นถุงพลาสติกถึง 1.5 ล้านตัน และเป็นภาชนะพลาสติก กล่อง ขวด ฝา และอื่น ๆ อีก 5 แสนตัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดอันดับ 2 ในการนำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดในอาเซียน
อพวช. จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ UNESCO ในโครงการ Plastic Initiative ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากการใช้และการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทั้งในการใช้เท่าที่จำเป็น การจัดการที่เหมาะสม การวิจัยและพัฒนาเพื่อเปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า (Waste to Value) การสร้างความมั่งคั่งจากขยะ (Waste to Wealth) ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เช่น Bioplastic ซึ่งล้วนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับ Zero Waste, และ BCG หรือ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) โดยรัฐบาลกำหนดเป็น Roadmap ตั้งเป้าหมายให้สามารถนำผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2570
Dr. Benno Boer (Chief of Natural Sciences of UNESCO Bangkok office) ผู้แทนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการ The Plastic Initiative นี้ ริเริ่มโดยองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการจัดการกับมลพิษพลาสติกอย่างครบวงจร อาทิ การระดมเยาวชน การปรับปรุงการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนานโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ยั่งยืนโดยร่วมมือกับรัฐบาลเอกชน ภาคและหน่วยงานสหประชาชาติ ทั้งนี้ ยูเนสโก หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนและร่วมรณรงค์ ตลอดจนการลงปฎิบัติเพื่อลดปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

อิมแพ็ค เมืองทองธานี / มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 งานที่รวบรวมสุดยอดกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี ปีนี้ มีนานาชาติให้ความสนใจเข้าร่วมจัดถึง 17 ประเทศ 103 องค์กร และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เลโก้เอ็ดดูเคชั่น ที่มีชื่อเสียงระดับโลก (LEGO) ได้เปิดตัวต้นแบบ SPIKE ™ Prime ด้าน STEAM Education ชุดเลโก้เพื่อการศึกษาแห่งแรกในไทย ที่จะช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้พื้นฐานของการเขียนโปรแกรมและหุ่นยนต์ เพื่อจุดประกายความอยากเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมปลูกฝังการเป็นเยาวชนนักประดิษฐ์ นักวิศวกร หรือนวัตกรแห่งอนาคต ผ่านการเรียนรู้เชิงบูรณาการด้าน STEAM Education (5 ศาสตร์ ได้แก่ หลักสูตรทางวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ศิลปะ (Arts) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)
SPIKE ™ Prime เป็นหลักสูตรที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ในการคอยให้คำแนะนำเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย แผนการเรียนที่ถูกออกแบบมาตามหัวข้อต่าง ๆ อาทิ หมวดวิศวกรรม หมวดวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หมวดการแข่งขัน หมวดเทคโนโลยี (สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมซอฟต์แวร์ได้ฟรีทางเว็บไซต์ของเลโก้) ซึ่งในแต่ละหมวดจะเป็นการสอนให้เด็กได้เข้าใจและเรียนรู้อย่างละเอียดเพื่อเป็นพื้นฐาน ในการต่อยอดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุ เป็นผล เรียนรู้การวางแผน โดยรวบรวมชิ้นส่วนเลโก้ที่มีสีสันมากมาย จำนวน 523 ชิ้น มีระบบฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานง่าย โดยใช้การเขียนโค้ดเบื้องต้นที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ ผ่านโปรแกรม Scratch (โปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบของกราฟฟิค) ในการสั่งการ หากสามารถเรียนรู้การเขียนตามชุดคำสั่งที่กำกับไว้เป็นแบบพื้นฐาน เมื่อมีความเข้าใจแล้ว เด็กๆ จะสามารถเขียนโค้ดด้วยชุดคำสั่งที่ถูกประยุกต์ขึ้นมาในแบบฉบับของตนเองได้ และเร็วๆ นี้ โปรแกรม Scratch กำลังถูกจัดลงในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนทุกสังกัดในประเทศไทย โดยเน้นที่กลุ่มเด็กนักเรียนประถม ชุด LEGO Education SPIKE ™ Prime จึงสามารถตอบโจทย์ในด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี
LEGO Education SPIKE ™ Prime เหมาะสำหรับกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป มีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มเยาวชนได้เสริมทักษะด้านการประดิษฐ์ คิดค้น รู้จักลองผิด ลองถูก, รู้จักฝึกฝนการแก้ไขปัญหา เพื่อค้นหาทางออกที่เหมาะสม ฝึกกระบวนการขยายความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและได้สร้างทักษะ STEAM จนก่อเกิดเป็นความคิดเชิงนวัตกรรม
ไม่เพียงเท่านั้น บ.เลโก้ ยังนำสิ่งประดิษฐ์จากเลโก้ และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ฝึกทักษะได้ในทุกช่วงวัย อีกมากมาย มาจัดแสดงในนิทรรศการ “LEGO ®Space Challenge Land” ทั้งการนำ LEGO ® ตัวต่อรูปเหลี่ยมที่ทุกคนคุ้นเคยกับการคิด ประดิษฐ์ มาให้เยาวชนไทยได้สร้างสรรค์จินตนาการในรูปแบบใหม่เต็มรูปแบบที่แรกในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ หรือการเล่น เรียน รู้ ไปกับ Perspective City Mars Exploration จาก LEGO ® Group, Denmark
ภายในนิทรรศการ LEGO Education แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
โซนที่ 1 เป็นพื้นที่เปิดตัวชุดเพื่อการศึกษาแห่งแรกในไทย สำหรับ SPIKE ™ Prime เน้นระบบ STEAM Education
โซนที่ 2 รวบรวมสินค้ามากมายจากเลโก้ ที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุของเด็กมาให้ยลโฉม ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถศึกษา ประวัติความเป็นมาของเลโก้ ควบคู่ไปด้วยผ่านบอร์ดจัดแสดง LEGO History Wall
โซนที่ 3 Hands-on area พื้นที่ลานกิจกรรมที่นอกจากจะสร้างความสนุกยังมาพร้อมสาระ โดยให้เด็กสามารถทดลองลงมือทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกต่อเลโก้ ฝึกการเขียน Coding เบื้องต้น และทดลองปล่อยรถลงทางลาด ตลอดจน ทดลองบังคับหุ่นยนต์ในสนามแข่งขัน FLL และ Space Challenge
มาเรียนรู้การสร้างสรรค์จินตนาการผ่านตัวต่อ “เลโก้” ในรูปแบบใหม่นี้ ได้ที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 ตั้งแต่ 16-25 สิงหาคมนี้ ณ อาคาร 6-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี หนึ่งปี มีครั้งเดียว เท่านั้น!!
-----------------------------------------------------------------------------------------------
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ติดต่อ กองประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
คุณพัชร์ชิสา (ปัญญ์) 095-624-6659 / คุณฐาปนี (เก๋ง) 085-772-9955
ประชาสัมพันธ์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562
คุณสุวรรณา (นา) 081-565-5540 / คุณพัสรา (ต่าย) 087-497-8183

13 มีนาคม 2563 - องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ แบบมีส่วนร่วม Co-creating the Future of Museums and Communities : How can museum help communities to sustainably develop? เพื่อผู้ปฏิบัติงานด้านพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ได้เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กับนักวิชาการ และภัณฑารักษ์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ มุ่งเน้นการเพิ่มพูนทักษะเดิม และเพิ่มเติมทักษะใหม่ ให้สามารถออกแบบการทำงานโดยใช้พิพิธภัณฑ์เป็นอุปกรณ์การทำงานอย่างมีส่วนร่วม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของชุมชนและพิพิธภัณฑ์ โดยมี ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) (คนที่ 4 จากซ้าย) ร่วมบรรยายในหัวข้อ "การทำงานร่วมกับชุมชนในบริบทของเรื่องราววิทยาศาสตร์" รวมถึง อพวช. ได้ส่งนักวิชาการร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมฯ ครั้งนี้ด้วย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรุงเทพฯ

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) จัดการแข่งขัน “THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2019” รอบชิงชนะเลิศ เพื่อเฟ้นหาทีมชนะเลิศ การประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็ก (Cansat) และจรวดเชื้อเพลิงน้ำตาล (Sugar Rocket) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1 ทีม จากทีมที่เข้ารอบทั้งหมด 15 ทีม ที่ผ่านการแข่งขันอันเข้มข้นจากรอบ 50 ทีมมาได้ การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านการแข่งขันประดิษฐ์ CANSAT – Rocket ร่วมกัน โดยการแข่งขันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 กันยายน 2562 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี และสนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและ นวัตกรรมของประเทศ พร้อมก้าวเข้าสู่การแข่งขันเวทีระดับนานาชาติต่อไป
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า การกระตุ้นและ ส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ และปลูกฝังให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดี ต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ถือเป็นภารกิจที่สำคัญขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ การจัดแข่งขัน “THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2019” รอบชิงชนะเลิศ ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ อพวช. ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน นำไปสู่การอยากเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ โดยทีมชนะเลิศการประดิษฐ์ Cansat (ดาวเทียมขนาดเล็ก) และ Sugar Rocket (จรวด เชื้อเพลิงน้ำตาล) จะได้มีโอกาสเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติซึ่งจะเป็นบันไดให้กับทีมเยาวชน ได้พัฒนาตนเองต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป
พล.อ.ต. ผศ.ดร.สุธี จันทรพันธุ์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กล่าวว่า การแข่งขัน “THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2019” รอบชิงชนะเลิศ เป็นการบูรณาการความร่วมมืออันดียิ่งของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาท สำคัญต่อการพัฒนาและสงเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนของชาติ ในฐานะที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกัน ประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีจุดกำเนิดในการวิจัยและพัฒนาระบบจรวดหลายลากลอง DTI-1, DTI-1G, D2, D9 และ D11A สนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ และการวิจัยและ พัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศสนับสนุนภารกิจฝนหลวง จากการสั่งสมองค์ความรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ทดสอบ ทดลองกว่า10 ปี ปัจจุบัน สทป. สามารถพัฒนาจรวดสมรรถนะสูงขนาด 122 มม. ทำการทดสอบภาคพลวัตในระยะยิง 40 กิโลเมตร ได้สำเร็จในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจขององค์กรเป็นอย่างสูง นักวิจัยและพัฒนาของ สทป. ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวถ่ายทอดการเรียนรู้ให้กับเยาวชนผ่านการอบรมความรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในการประดิษฐ์จรวดเชื้อเพลงน้ำตาล ( Sugar Rocket) และดาวเทียมขนาดเล็ก (Cansat) ขึ้นสู่อากาศได้ดวยตนเอง โดย สทป. มุ่งหวังให้เยาวชนระดับมัธยมปลายที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน ได้รับความรู้ เกิดแรงบันดาลใจ มุ่งมั่นในการ ประดิษฐ์ คิดค้น ผลงานวิจัย ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและความมั่นคงของชาติ พัฒนาต่อยอดสู่การผลิต เชิงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประเทศ
ความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมอีกขั้น ในการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ให้เยาวชนไทยมีศักยภาพพร้อมเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ประกาศผลรางวัล “โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4” เพื่อเป็นเวทีเปิดโอกาสให้ผู้ที่รักการเขียน และรักในวิทยาศาสตร์ใช้จินตนาการถ่ายทอดงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ในรูปแบบเรื่องสั้น โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท ได้แก่ นายกฤตชนิศ เชื้อแก้ว มหาวิทยาลัยบูรพาจากผลงานเรื่อง “ศักราชหมีที่หนึ่ง” ประเภทเยาวชน และนายกล้า สมุทวณิช จากผลงานเรื่อง “ยุติธรรมประดิษฐ์” พร้อมเปิดตัวหนังสือรวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่มีทั้งจินตนาการและความรู้ควบคู่กันเรื่อง “ศักราชประดิษฐ์” เพื่อสื่อสารความคิดและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องราวที่เข้าใจได้
นางกรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่าโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4 เป็นความสำเร็จจากการร่วมมือของ 5 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ อพวช. มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ซึ่ง 5 องค์กรต่างตระหนักและให้ความสำคัญของวรรณกรรมเชิงวิทยาศาสตร์ เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัว การจะนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มานำเสนอด้วยทฤษฎี หลักการและสมการต่างๆ โดยปราศจากอรรถรสและความสนุกสนานนั้นอาจไม่น่าสนใจพอ ดังนั้น การร้อยเรียงเรื่องราวผ่านการเขียนในรูปแบบวรรณกรรมวิทยาศาสตร์จึงเป็นส่วนหลักในการทำหน้าที่เชื่อมโยงสาระ เข้ากับความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ ชวนสงสัยหรือแม้แต่ขบขัน ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้อ่านและนำวิทยาศาสตร์มาอยู่ใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้น
โครงการประกวดเรื่องสั้นในปีนี้ ได้รับความสนใจจากกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไปค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง และเป็นกำลังใจให้กับผู้จัดและพันธมิตรของเราในการขับเคลื่อนสังคมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ปีนี้มีผู้สมัครและส่งผลงานเข้าร่วมโครงการประกวด ทั้งหมด 192 ผลงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทเยาวชนและประชาชนทั่วไป มีกรรมการจาก อพวช. มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และผู้กำกับภาพยนตร์จาก GDH 559 ได้ร่วมกันคัดเลือกผลงานจากทั้งหมด ให้เหลือเพียง 15 เรื่อง เพื่อรวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือ “ศักราชประดิษฐ์” โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ และหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะสร้างความสนุกและให้สาระความรู้ให้ผู้อ่าน ตลอดจนสามารถนำมาเป็นประโยชน์และเติมแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้ต่อไป
คุณกนกวลี พจนปกรณ์ กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสำหรับปีนี้เป็นงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ มีทั้งแบบที่หนักแน่นจริงจังด้วยหลักเกณฑ์ กฎ ทฤษฎีและงานเขียนที่เป็นแนววิทยาศาสตร์แบบไม่เน้นทฤษฎีกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์มากนัก (Soft Sci-Fi) แต่ทั้งหมดก็คืองานวรรณกรรมที่ผู้เขียนถ่ายทอด สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อสังคมต่อสิ่งแวดล้อม ทางสมาคมนักเขียนมีความยินดีที่เยาวชนไทยให้ความสำคัญในเรื่องของการอ่านและสนใจในการเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์กันมากขึ้นทุกๆ ปี ทำให้เราเห็นว่าเรื่องสั้นหรือนวนิยายก็จะมีความพัฒนาขึ้นไปทุกๆ ปี
รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดี รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ารางวัลด้านเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์มาผสมผสานกัน เป็นเรื่องของจินตนาการที่มีรูปธรรมมากขึ้น เพราะปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าเร็วมาก เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่ทุกท่านส่งเข้าประกวดจะช่วยจุดประกายความคิดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วมันจะเป็นอย่างไรในอนาคต ถือว่าเป็นการกระตุกความคิดของพวกเราให้เกิดความตระหนักรู้ถึงสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนเพิ่มความรอบคอบในการก้าวเดินล้ำไปในอนาคตได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะขอสนับสนุนไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีนักเขียนและนักอ่านเพิ่มมากขึ้น
คุณวิชชพัชร์ โกจิ๋ว กรรมการที่ปรึกษาและผู้กำกับภาพยนตร์ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด กล่าวถึงการต่อยอดของเรื่องสั้นทางวิทยาศาสตร์ว่า เทรนด์ของโลกปัจจุบันนี้จะเห็นว่าหนังภาพยนตร์ที่เป็นหนังทำเงินส่วนใหญ่เป็นหนังที่มีพื้นฐานเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์ โครงการนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการหนังไทยอย่างมาก นักเขียนเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์จะเขียนบทที่มีบริบทเป็นไทยมากขึ้น ทำให้มองเห็นอนาคตที่เป็น Sci fi แบบไทยๆ ที่ประสบความสำเร็จได้ ผมอยากขอบคุณ อพวช. ที่เอาจริงเอาจังกับการรดน้ำพรวนดินให้ต้นไม้วรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ต้นนี้ วันนี้ ผมรู้สึกว่ามันเริ่มเติบโตแล้วและเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะหยั่งรากลึกในวงการวรรณกรรมไทยอย่างมั่นคงต่อไป
ส่วน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานโครงการ ในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการฯ ในการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในสังคมไทยว่า การแข่งขันเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 4 คือการสร้างให้คนมีความตระหนักรู้ถึงวิทยาศาสตร์ผ่านเรื่องสั้น โดยจินตนาการเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการเขียนเรื่องสั้น สามารถใช้ได้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์มาผสมผสานกัน พร้อมกล่าวชื่นชม 5 องค์กรหลักและอยากให้มีการจัดโครงการนี้ในปีต่อๆ ไป
นางกรรณิการ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่าสำหรับนักเขียน รางวัลที่ดีที่สุดคือการที่นำงานเขียนเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนได้ชื่นชมผลงาน ทาง อพวช. จึงขอเป็นผู้ร่วมสนับสนุนสำคัญให้เกิดนักเขียนหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นทุกปี เพื่อให้เป็นแรงบันดาลในความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ของอนาคตของชาติต่อไป
สำหรับผลรางวัลในการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 4
- รางวัลประเภทเยาวชน
- รางวัลชนะเลิศ ผลงานเรื่อง ศักราชหมีที่หนึ่ง โดย กฤตชนิศ เชื้อแก้ว
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงานเรื่อง Identity โดย สุภาณี เลิศธนาภรณ์
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงานเรื่อง EVE#123 โดย เนตรชนก ปลูกปานย้อย
- รางวัลชมเชย ผลงานเรื่อง เนิ่นนานกว่าการเวลา โดย ชลัช จินตนะ, ผลงานเรื่อง Rest in Peace โดย พัชรพร ศุภผล, ผลงานเรื่อง บริษัทดีไซน์มนุษย์ โดย บุรัสกร ถาวรวัฒน์ และผลงานเรื่อง วิวรรธน์ โดย วริศรา จิ้วกาย
- รางวัลประเภทประชาชนทั่วไป
- รางวัลชนะเลิศ ผลงานเรื่อง ยุติธรรมประดิษฐ์โดย กล้า สมุทวณิช
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงานเรื่อง ความรักของเจน True love of Jane โดย รมณ กมลนาวิน
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงานเรื่อง กฎทรงมวล โดย ไพรัตน์ ยิ้มวิลัย
- รางวัลชมเชย ผลงานเรื่อง ทั้งหมดเพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ โดย นัทธ์ รัตนชูเอก, ผลงานเรื่อง คืนสมองไหล โดย กมลพร อ่าวสกุล, ผลงานเรื่อง เปลี่ยนหัว...เปลี่ยนชีวิต โดย ชุลีพร เตชทิพากร, ผลงานเรื่อง สลักนักฝัน โดย กิตติศักดิ์ กิตติวิรยานนท์ และผลงานเรื่อง เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง โดย จาตุรันต์ เสียงดี
- รางวัลพิเศษสำหรับผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย ทั้งหมด 26 รางวัล
อพวช. ขานรับนโยบายกระทรวง อว. มอบของขวัญปีใหม่ ชวนคนไทยมาเรียนรู้และเล่นไปกับแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้น้องใหม่ล่าสุด พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า พิพิธภัณฑ์ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งใหม่ที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งในอาเซียน นำเสนอผ่านแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และวิธีการทรงงาน การคิดแก้ปัญหาตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สอดคล้องแนวคิดทาง BCG Economy มุ่งเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน พิเศษประชาชนได้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ – 5 มกราคม 2563
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นโครงการเฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทยด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยเนื้อหาที่นำเสนอสาระผ่านนิทรรศการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมมีการนำเสนอหลักคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานไว้ พร้อมทั้งมุ่งเน้นในการเสริมสร้างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชน ด้วยการเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และสอดคล้องกับแนวคิด BCG Economy ของรัฐบาลที่มุ่งสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
โดยในโอกาสนี้ อว.ขอมอบของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทุกคน ด้วยการเปิดพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าให้คนไทยเข้าชมอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเปิดให้เข้าชมฟรีถึง 4 พิพิธภัณฑ์ในกำกับดูแลของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า พิพิธภัณฑ์ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งใหม่ที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งของอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2562 – 5 มกราคม 2563
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า อพวช. ตั้งใจให้พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นฮับหรือศูนย์กลางความร่วมมือด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน มีเนื้อที่กว่า 47,400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ภายในองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เทคโนธานี ถนนรังสิต – นครนายก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากความใหญ่และสมบูรณ์ของการจัดแสดงที่มีความหลากหลาย และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีผลงานวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมแล้วกว่า 27 ท่าน มาร่วมเป็นที่ปรึกษาในการจัดสร้างและนำเสนออย่างน่าสนใจ
ภายในนิทรรศการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. โลกของเรา OUR HOME นำเสนอเรื่องราวของการก่อกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลก ไปจนถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งเกิดสายพันธุ์มนุษย์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก
2. ชีวิตของเรา OUR LIFE แสดงสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ ภายในชีวนิเวศ (Biome) ต่าง ๆ ได้แก่ แอนตาร์กติกา อาร์กติก ทุนดรา ไทก้า ทะเลทราย เขตอบอุ่น และเขตร้อน ตลอดจนอิทธิพลของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ซึ่งบางกิจกรรมก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังแสดงถึงเขตภูมินิเวศ (Ecoregions) ของประเทศไทยอีกด้วย
3. ในหลวงของเรา OUR KING นำเสนอแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ ทรงมีวิธีคิด วิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทรงมองเห็นความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ในองค์รวม เมื่อรวมเข้ากับหลักการบริหารจัดการ จึงนำมาสู่โครงการพระราชดำริ หลักคิดหลักปรัชญา ที่พระราชทานเป็นแนวทางในการดำรงอยู่ของมนุษย์กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน
พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ตั้งอยู่ที่ อพวช. ถนนรังสิต – นครนายก ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ. ปทุมธานี เปิดให้บริการทุกวันอังคาร – ศุกร์ เวลา 09.30 - 16.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 -17.00 น. (ปิดบริการทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2577 9999 ต่อ 2122 , 2123 หรือ www.nsm.or.th และ Facebook : NSMthailand

25 สิงหาคม 2562 – อิมแพ็ค เมืองทองธานี / องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ประกาศผลจ้าวแห่งเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 16 (The 16th Thailand Paper-Folded Airplane Competition) โดยแชมป์รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ได้แก่ ด.ช. นรภัทร ทรงเต๊ะ จากโรงเรียนสุเหร่าบางกะสี จังหวัดสมุทรปราการ สามารถประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษพับที่สามารถร่อนได้นาน ทำสถิติโดยเฉลี่ย 15.76 วินาที และรุ่นทั่วไป ได้แก่ นายชัยธวัช เลนสันเทียะ จากโรงเรียนหนองกราดพัฒนา จังหวัดนครราชสีมา สามารถประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษพับที่สามารถร่อนได้นาน ทำสถิติโดยเฉลี่ย 18.94 วินาที โดยผู้ชนะทั้งสองรุ่นจะได้เข้าชิงชัยการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์โลกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2563
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. ร่วมกับสมาคมเครื่องบินกระดาษพับจัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการทดลอง ค้นคิด ฝึกประดิษฐ์ผสมผสานการจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้เล่นเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยใช้วัสดุใกล้ตัวอย่างกระดาษแผ่นเดียว พร้อมยังเป็นการฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการทำให้กระดาษแผ่นเดียวนี้กลายเป็นเครื่องบินกระดาษพับที่สามารถลอยในอากาศให้ได้นานที่สุด โดยการแข่งขันครั้งนี้ได้ทำการคัดเลือกมาตั้งแต่ระดับภูมิภาค แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และรุ่นบุคคลทั่วไป ซึ่งผู้เข้าร่วมแข่งขันรอบแรกต้องทำสถิติร่อนเครื่องบินกระดาษพับได้ 9 วินาทีขึ้นไปในรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และ 11 วินาทีขึ้นไปในรุ่นบุคคลทั่วไป จึงจะมีสิทธิ์บันทึกสถิติเพื่อเข้าแข่งขันสำหรับรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 25 สิงหาคม ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ด.ช.นรภัทร ทรงเต๊ะ รางวัลชนะเลิศ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี
นายชัยธวัช เลนสันเทียะ รางวัลชนะเลิศ รุ่นทั่วไป
สำหรับการแข่งขันรอบรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันต้องทำสถิติการร่อนเครื่องบินกระดาษพับได้นานกว่า 11 วินาทีขึ้นไปในรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และ 14 วินาทีขึ้นไปในรุ่นบุคคลทั่วไป จึงจะผ่านเข้ารอบดังกล่าว โดยแชมป์รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ได้แก่ ด.ช. นรภัทร ทรงเต๊ะ จากโรงเรียนสุเหร่าบางกะสี จังหวัดสมุทรปราการ สามารถประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษพับที่สามารถร่อนได้นาน ทำสถิติโดยเฉลี่ย 15.76 วินาที และรุ่นทั่วไป ได้แก่ นายชัยธวัช เลนสันเทียะ จากโรงเรียนหนองกราดพัฒนา จังหวัดนครราชสีมา สามารถประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษพับที่สามารถร่อนได้นาน ทำสถิติโดยเฉลี่ย 18.94 วินาที
ทั้งนี้ ในพิธีมอบรางวัลได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มาร่วมแสดงความยินดีและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 รุ่น ในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ภายหลังการแข่งขัน อพวช. ยังส่งเสริมการพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้แข่งขันให้ก้าวไกลไปอีกระดับ ด้วยการส่งผู้ชนะทั้งสองรุ่นเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงชัยการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์โลกที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป

วิกฤตขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหารุนแรงที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไข ร่วมมือกัน เพราะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ โดยเฉพาะขยะทะเล
สำหรับประเทศไทย ขยะพลาสติก ติดอันดับ 5 ของโลก หรือคิดเป็น 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด ที่น่ากังวลคือ ขยะพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ปีละ 0.5 ล้านตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลาย บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลลงทะเลจำนวนมาก กลายเป็นแพขยะในทะเลขนาดใหญ่
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์และระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจ การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน การกินขยะพลาสติกของนกและปลาในทะเล รวมทั้งการสะสมของไมโครพลาสติกในดินหรือแหล่งน้ำ และผลพวงขยะพลาสติกที่เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการขยะไม่ถูกวิธี
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “นอกจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดการขยะพลาสติกแล้ว เรายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย เช่น ระยะเวลาในการย่อยสลายพลาสติกแต่ละประเภท พฤติกรรมการใช้พลาสติกของผู้บริโภค ความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้นำมาใช้ใหม่ เป็นต้น ดังนั้น หนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะยาว คือการลดขยะพลาสติกโดยนำมารีไซเคิลและใช้ซ้ำเพิ่มขึ้น และเพื่อให้เยาวชนและคนไทยตระหนักถึงวิกฤตขยะพลาสติก ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ มนุษย์และสัตว์ และเรียนรู้การจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธีด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้จัดแสดงนิทรรศการ “พลาสติกพลิกโลก” (Plastic Change the World) ภายในงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 ขึ้น โดยนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมค้นหาคำตอบว่าทำไมพลาสติกสารพัดประโยชน์จึงกลายเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมและกำลังกลับมาทำร้ายมนุษย์ ใครคือผู้ร้ายตัวจริง และเราจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองได้อย่างไร”
ภายในนิทรรศการชุดนี้ ประกอบด้วย 3 โซน
โซนที่ 1 พลาสติกพลิกโลก เพื่อให้มนุษย์เรียนรู้การนำวัสดุในธรรมชาติมาใช้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อกาลเวลาผ่านไปความต้องการของมนุษย์มีแต่จะเพิ่มขึ้นจนทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการ วัสดุราคาถูก สารพัดประโยชน์อย่างพลาสติกจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า พลาสติกก็ยิ่งมีบทบาทมากขึ้น รู้หรือไม่ตอนนี้บนโลกของเรามีพลาสติกกี่ชนิด แล้วยังมีสิ่งใดบ้างที่ไม่ได้ผลิตด้วยพลาสติก Hilight: กิจกรรมทดสอบคุณสมบัติวัสดุต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าทำไมพลาสติกจึงเป็นวัสดุสารพัดประโยชน์ ร่วมกันตามหาสิ่งของในชีวิตประจำวันที่พบได้ที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล มีอะไรบ้างที่ไม่มีส่วนผสมของพลาสติก และมาคำนวณว่าในแต่ละวันเราใช้และทิ้งพลาสติกกี่ชิ้น
โซนที่ 2 พลาสติกพลิกผัน เพราะผลิตง่าย จึงผลิตมาก ใช้มาก ทิ้งมาก แต่ย่อยสลายยาก พลาสติกจึงพลิกผันจากวัสดุสารพัดประโยชน์กลายเป็นขยะ กระจายไปทั่วทุกที่บนโลกไม่ว่าจะแม่น้ำ ยอดเขา มหาสมุทรลึกล้วนมีพลาสติกทั้งขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ด้วยตา และขนาดเล็กยิ่งกว่าปลายเข็ม ทำไมพลาสติกจึงกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่กำลังจะกลับมาหาเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพลาสติกอยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในลำไส้ของเรา Hilight: กิจกรรมส่องกล้องมองพลาสติกเพื่อดูพลาสติกจิ๋ว ส่วนจัดแสดงภาพถ่ายผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเต่าทะเลสตัฟฟ์ และแมงกระพรุนซึ่งเป็นอาหารของเต่าเปรียบเทียบกับพลาสติกซึ่งลอยในน้ำ ที่แม้มนุษย์เราจะแยกออกแต่เต่าไม่สามารถแยกได้
โซน 3 พลาสติกพลิกโฉม ปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่เราทุกคนทั่วโลกต้องร่วมมือกัน ร่วมเรียนรู้เพื่อค้นพบวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแบบของตัวเองผ่านเรื่องราวของคนจากประเทศต่างๆ และคนจากหลากหลายอาชีพที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ ทั้งพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจรีไซเคิลและเทคโนโลยีอัพไซเคิลที่เปลี่ยนพลาสติกเป็นวัตถุดิบกลับสู่กระบวนการผลิต งานวิจัยที่เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่สามารถย่อยพลาสติกได้ Hilight: พบกับผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและงานวิจัยใหม่ๆ มากมายที่ได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนนำมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นความตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่โลกกำลังเผชิญ พบกับนักนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะมาให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าชม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำขวดน้ำกินได้ ให้ผู้เข้าชมได้ทำเอง ชิมเองอีกด้วย
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 สิงหาคมนี้ ณ อาคาร 6-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงาน ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (@thailandnstfair) หรือสอบถามข้อมูลที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9960
------------------------------------------------------------------------------------------------------
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ติดต่อ กองประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
คุณพัชร์ชิสา (ปัญญ์) 095-624-6659 / คุณฐาปนี (เก๋ง) 085-772-9955
ประชาสัมพันธ์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562
คุณสุวรรณา (นา) 081-565-5540 / คุณพัสรา (ต่าย) 087-497-8183