โครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทย โดยได้ทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการนี้ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนี เมื่อปีพ.ศ. 2552 คณะกรรมการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จึงได้ติดต่อกับมูลนิธิ Haus der kleinen Forscher เพื่อขออนุญาตนำกิจกรรมนี้มาทดลองทำในประเทศไทย
ที่มาของโครงการนี้ มาจากการประเมินผลของโครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) พบว่า ความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่จะร่วมมือขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ งานวิจัยยืนยันว่า เราควรสร้างทัศนคติที่ดีด้านการเรียนรู้ทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) เพราะเป็นช่วงอายุที่มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำมากที่สุด ซึ่งโครงการได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
รายละเอียดเพิ่มเติม
http://www.littlescientistshouse.com/
รายละเอียดโครงการ โครงการนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1: โรงเรียน
1. การอบรมครูอนุบาลให้รู้จักวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ให้สนุกและเหมาะสมกับวัยอนุบาล 1) โครงการจะแบ่งโรงเรียนตามเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network: LN) ซึ่งแต่ละเครือข่ายเป็นเจ้าภาพให้แก่โรงเรียนของเครือข่ายประมาณ 30-150 โรง โดยแต่ละเครือข่ายสามารถส่งผู้แทน 2-4 คนเป็นวิทยากรท้องถิ่น (Local Trainer: LT) เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ เทคนิคการสอนและการใช้สื่ออุปกรณ์ รวมทั้งคู่มือการสอนกับวิทยากรของโครงการ
2) วิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น (Local Trainer: LT) ถ่ายทอดเทคนิคและแนะนำวิธีการสอนไปยังครูอนุบาลตามโรงเรียนต่างๆ
3) ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาลต้องดำเนินการสอนวิทยาศาสตร์ทุกสัปดาห์ ให้กับนักเรียนอนุบาลในโรงเรียน
4) นักเรียนอนุบาลจะต้องมีประสบการณ์การทดลองวิทยาศาสตร์และมีกิจกรรมในชั้นเรียนทุกสัปดาห์
โปรแกรมการอบรมครู
ช่องทางการติดต่อสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมอบรมและเงื่อนไขต่าง ๆ
2. คู่มือการสอนระดับคุณภาพพร้อมอุปกรณ์ใน “กล่องนักวิทยาศาสตร์น้อย”
“กล่องนักวิทยาศาสตร์น้อย” เป็นสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับใช้ในแต่ละภาคการศึกษา โดยแบ่งเป็น
ก. ใบกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ที่ครูสามารถนำไปใช้ในห้องเรียน แยกตามสัปดาห์การสอน
ข. คู่มือครู เช่น เทคนิคการสอนทฤษฎีและหลักการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ อย่างง่าย
ค. “สมุดบันทึกบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” (log book) เพื่อบันทึกกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยที่ทำในโรงเรียน
3. นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรพี่เลี้ยง
โรงเรียนที่ร่วมโครงการควรจะได้รับการแนะนำและการสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรพี่เลี้ยง เช่น กิจกรรมพบปะนักเรียนที่โรงเรียน, เชิญนักเรียนและครูไปทัศนศึกษาที่ห้องปฏิบัติการ, ให้คำแนะนำครูถึงเทคนิคการสอน ฯลฯ
4. เว็บไซต์สำหรับครูและนักเรียน www.littlescientistshouse.com
1) เว็บไซต์นี้จะรวบรวมทรัพยากรที่ครูนำไปใช้ในการสอนได้ รวบรวมใบงาน ใบกิจกรรมทั้งหมดที่อยู่ใน “กล่องนักวิทยาศาสตร์น้อย”
2) เว็บไซต์ยังมีส่วนปฏิสัมพันธ์ คือ มีการถาม-ตอบปัญหาข้อสงสัยในการสอนและการทดลอง โดยมีทีมงานของโครงการตอบ ข้อสงสัยและคำถามต่างๆ และหากครูมีแนวความคิดเห็นที่อยากแบ่งปันให้โรงเรียนอื่น ก็สามารถใช้พื้นที่นี้ในการแสดงความเห็นได้
5. โรงเรียนที่ร่วมโครงการสามารถจัดทัศนศึกษาไปที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อให้เด็กและครูได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในรูปแบบนอกห้องเรียนและมีปฏิสัมพันธ์
6. โรงเรียนที่ร่วมโครงการ และผ่านการประเมินจะได้รับตราพระราชทาน “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เพื่อประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏ
ส่วนที่ 2 : ครอบครัว
1. ผู้ปกครองมีบทบาทปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้ลูกผ่านนิทานแสนสนุก พร้อมการทดลองอย่างง่ายๆ แต่เปี่ยมด้วยความรู้โดยอาจศึกษาจากหนังสือ เรื่อง “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” โดย Mr. Joachim Hecker
1) การทดลองที่สามารถเตรียมการและจัดหาอุปกรณ์การทดลองได้ง่าย
2) เรียนรู้ผ่านการเล่าเรื่องจากรูปแบบของนิทานก่อนนอน แทรกความรู้ได้อย่างลงตัว เด็กๆ จะได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน
เทศกาลบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในงานมหกรรมวิทย์ กิจกรรมสร้างนิสัยรักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์การค้า เปิดให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ เข้าร่วมได้ฟรี
1) เวทีที่เด็กๆ สามารถแสดงความสามารถด้านวิทยาศาสตร์
2) ประกวดการทดลองวิทยาศาสตร์โดยเด็กอนุบาลระดับจังหวัดและต่อเนื่องไปถึงระดับประเทศ
3) กิจกรรมการทดลองหลากหลายที่ท้าทายความสามารถของครูและนักเรียน
4) เกมวิทยาศาสตร์สนุก ๆ ที่ซุ้มในงาน
2. เว็บไซต์ สำหรับผู้ปกครอง www.littlescientistshouse.com
1) เว็บไซต์นี้จะรวบรวมความคิดเห็นที่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ สามารถนำไปเป็นกิจกรรมทำร่วมกับเด็ก ๆ ได้
2) เว็บไซต์ยังมีส่วนปฏิสัมพันธ์ คือ มีการถาม-ตอบปัญหาข้อสงสัยในการสอนและการทดลอง โดยมีทีมงานของโครงการตอบข้อสงสัยและคำถามต่างๆ และหากผู้ปกครองมีความคิดเห็นที่อยากแบ่งปันให้คนอื่น ก็สามารถใช้พื้นที่นี้ ในการแสดงความเห็นได้
ส่วนที่ 3 : มวลชน
โครงการจัดทำรายการโทรทัศน์ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย”ผู้ปกครองและเด็กๆ ที่บ้าน จะได้รับชมรายการโทรทัศน์ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” ผ่านทางสถานี TPBS ทุกวันอาทิตย์ เวลา 6.35-6.45 น. เริ่มตอนแรกวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และรายการนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” โดย Joachim Hecker
คู่มือบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย <<Click
ใบเกียรติบัตร <<Click
พาสปอร์ต ด้านหน้า <<Click