พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

24-11-2021
พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

 ความเป็นมาของโครงการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

              พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าเป็นโครงการที่ริเริ่มเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยนำเสนอหลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ทรงพระราชทานแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมที่แสดงถึงวิวัฒนาการของโลกและสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละภูมิภาคของโลกรวมถึงประเทศไทย
             พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า จึงเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของประชาชนชาวไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักในบทบาทความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่สำคัญของโลกและประเทศไทย อันจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกในการรักษา อนุรักษ์ระบบนิเวศ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน 
การจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงหลัก 3 ส่วน  ได้แก่


ส่วนที่ 1 บ้านของเรา (OUR HOME)
ส่วนที่ 2 ชีวิตของเรา (OUR LIFE) 
ส่วนที่ 3 ในหลวงของเรา (OUR KING)

 

ส่วนที่ 1 OUR HOME

OUR HOME

นำเสนอเรื่องราวของการกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลก ไปจนถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต จนกระทั่งเกิดสายพันธุ์มนุษย์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง ดังนี้


- กำเนิดจักรวาล (BIG BANG)
จุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิตบนโลกเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบงซึ่งก่อให้เกิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลก


- ที่พักพิง (SHELTER)
กว่าโลกจะกลายมาเป็น “บ้าน” ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนั้น ได้ผ่านวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น การก่อตัวและการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดสภาพภูมิประเทศต่าง ๆ วัฏจักรของน้ำที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำภายในโลก ชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิ กระแสลม กระแสน้ำ ฯลฯ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เอื้อให้สิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการปรับตัวให้เข้ากับลักษณะทางกายภาพของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ


- ชีวิต (LIFE)
ชีวิตบนโลกเริ่มต้นขึ้นจากการเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ต่อมาอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมส่งผลให้สิ่งมีชีวิตปรับตัวจนมีรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นและถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ สู่ลูกหลานผ่านดีเอ็นเอ


- วิวัฒนาการและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (EVOLUTION AND MASS EXTINCTION)
สิ่งมีชีวิตต้องพยายามปรับตัวเพื่ออยู่รอด โดยสะท้อนให้เห็นผ่านรูปแบบของวิวัฒนาการ และเผชิญกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หลายครั้ง ร่องรอยดังกล่าวนี้ปรากฏให้เห็นผ่านซากดึกดำบรรพ์ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้นำมาศึกษาเพื่อบอกเล่าถึงความเป็นมาของโลกและสิ่งมีชีวิต


- การเดินทางของมนุษยชาติ (HUMAN ODYSSEY)
ในห้วงเวลาแห่งวิวัฒนาการอันยาวนานของสิ่งมีชีวิต สายพันธุ์มนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด มีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร และเผ่าพันธุ์ของเราจะเป็นอย่างไรต่อไร เป็นคำถามสำคัญที่สามารถค้นหาคำตอบได้จากส่วนจัดแสดงนี้ ผ่านตัวอย่างมนุษย์สายพันธุ์หลัก ๆ ที่แสดงถึงวิวัฒนาการทางกายภาพ จนกระทั่งมนุษย์สามารถยืนตัวตรง เดินสองขาได้อย่างมั่นคง รวมไปถึงการใช้มือที่มีลักษณะพิเศษ และสติปัญญาในการสร้างสรรค์วัฒนธรรม เพื่อปรับตัวและอยู่รอดตามสภาพแวดล้อมของโลกที่แตกต่างกันออกไป
 

 

ส่วนที่ 2 ชีวิตของเรา (OUR LIFE)

OUR LIFE

นำเสนอเรื่องราวของระบบนิเวศ สภาพแวดล้อมและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ ภายในชีวนิเวศ (Biome) ต่าง ๆ ได้แก่ ขั้วโลกใต้ (Antarctica), ขั้วโลกเหนือ (Arctic), ทุนดรา (Tundra), ไทกา (Taiga), ทะเลทราย (Desert), เขตอบอุ่น (Temperate) และเขตร้อน (Tropical) ตลอดจนอิทธิพลของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ซึ่งบางกิจกรรมก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความสำคัญของทรัพยากรดินและน้ำ ที่เป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญ รวมทั้งเขตภูมินิเวศของประเทศไทย (Thailand Ecoregion) อีกด้วย


- ขั้วโลกใต้ (ANTARCTICA)
เป็นชีวนิเวศบริเวณขั้วโลกใต้ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวร ยกเว้นนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโลกและสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีความหนาวเย็นมาก อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ระหว่าง -49 ถึง -89 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามสิ่งมีชีวิตบางชนิดทั้งพืชและสัตว์ที่สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสภาพอากาศอันรุนแรงนี้ แมขั้วโลกใต้จะไม่มีมนุษย์อาศัยถาวร แต่ผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์จากชีวนิเวศอื่นก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะปัญหารอยรั่วของชั้นโอโซนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น


- ขั้วโลกเหนือ (ARCTIC) 
เป็นชีวนิเวศที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งและเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้ เช่น วาฬ หมีขาว วอลรัส แมวน้ำ รวมทั้งมนุษย์ เช่น ชาวอินูอิท (Inuit) ที่สามารถสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวจากก้อนน้ำแข็ง เรียกว่า อิกลู (Igloo) ปัจจุบันขั้วโลกเหนือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำแข็งละลาย


- ทุนดรา (TUNDRA)
เป็นชีวนิเวศที่มีความหนาวเย็น มีช่วงอากาศอบอุ่นสั้นมาก ประมาณ 50-60 วัน พืชส่วนใหญ่จึงเป็นพืชขนาดเล็ก เช่น หญ้า มอส ดอกไม้ต่าง ๆ มีมนุษย์อาศัยอยู่หลายเผ่าพันธุ์ เช่น ชาวเนเนตส์ (Nenets) ซึ่งดำรงชีพโดยการเลี้ยงเรนเดียร์ ความโดดเด่นที่ไม่เหมือนชีวนิเวศเขตอื่นคือการเกิดขึ้นของฝูงยุงนับล้านตัวในช่วงฤดูร้อน


- ไทกา (TAIGA)
เป็นชีวนิเวศบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีแนวป่าสนขนาดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแบบสุดโต่งคือมีฤดูหนาวยาวนานและมีฤดูร้อนช่วงสั้นๆ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น ไฟป่า การบุกรุกของแมลง 


- ทะเลทราย (DESERT)
มีสภาพภูมิอากาศแบบสุดโต่งในอีกลักษณะหนึ่ง คือเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 250 มิลลิเมตรต่อปี สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เช่น สัตว์อาศัยในหลุมหรือรู การเปลี่ยนใบให้เป็นหนามเพื่อลดการคายน้ำของต้นกระบองเพชร 


- เขตอบอุ่น (TEMPERATE)
ความโดดเด่นของชีวนิเวศเขตนี้ คือการมี 4 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตจึงเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ส่วนจัดแสดงนี้นำเสนอผ่าน 5 พื้นที่ ได้แก่ ยุโรปกลาง (Central Europe), อเมริกาเหนือ (North America), อเมริกาใต้ (South America), ออสเตรเลีย (Australia) และเอเชียตะวันออก (East Asia)


- เขตร้อน (TROPICAL)
เป็นชีวนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในทุกลำดับความสูงของป่า แสงแดดและน้ำฝนมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความแตกต่างกัน นำเสนอผ่าน 5 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ นีโอทรอปิก (Neotropic), แอฟริกา (Africa), มาดากัสการ์ (Madagascar), ปาปัวนิวกินี (Papua New Guinea) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia)


- ดิน (THAILAND ECOSYSTEM SERVICE : SOIL)
ดิน เป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญ นิทรรศการนี้จึงเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับดิน เช่น คุณสมบัติของดินที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ การบริหารจัดการดินเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และสมดุลระหว่างมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติ 


- น้ำ (THAILAND ECOSYSTEM SERVICE : WATER)
น้ำ คือต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต นำเสนอตั้งแต่วัฏจักรของน้ำ การใช้ประโยชน์จากน้ำ แนวคิด และวิธีบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย รวมทั้งปัญหาและวิธีการแก้ไข


- ภูมินิเวศของไทย (THAILAND ECOREGION) 
ส่วนจัดแสดงนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนจัดแสดงสำหรับการอธิบายแนวคิด และความหมายของคำว่าเขตภูมินิเวศ (Ecoregion) ซึ่งเป็นการแบ่งพื้นที่ตามความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตตามชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) พื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการจำลองป่าที่มีความแตกต่างกัน 4 แห่ง ได้แก่ ป่าพรุ, ป่าดิบชื้น, ป่าเต็งรัง และป่าดิบเขาสำหรับพื้นที่ด้านนอกอาคาร ทำการจำลองพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นระบบนิเวศดั้งเดิมของทุ่งรังสิต
 


ส่วนที่ 3 ในหลวงของเรา (OUR KING)

OUR KING

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ ทรงมีวิธีคิด วิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ทรงมองเห็นความสัมพันธ์ของทั้งระบบในองค์รวม เมื่อรวมเข้ากับหลักการบริหารจัดการ จึงนำมาสู่โครงการพระราชดำริ หลักคิด หลักปรัชญา ที่พระราชทานเป็นแนวทางในการดำรงอยู่ของมนุษย์กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน การเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยทำให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับทราบ และเข้าใจถึงสภาพปัญหาของพสกนิกรที่มีความหลากหลายไปตามสภาพภูมิศาสตร์ จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาโดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระองค์ มี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ดิน น้ำ ป่า และคน (อาชีพ) เป็นการปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของประชาชนในท้องถิ่น

พระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศไทยและสากล ดังจะเห็นได้จากการได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ทั้งจากหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ 


สามารถชมนิทรรศการออนไลน์ ในรูปแบบ Virtual museum ได้ ที่นี่

ข่าวสารที่่คล้ายกัน