ความเป็นมา

 

ตึกลูกเต๋า

ประวัติความเป็นมา

ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 รัฐบาลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ล้นเกล้าฯ ทรงมีต่อพสกนิกรและประเทศชาติโดยเฉพาะทรงเป็นผู้นำในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมของไทยในท้องถิ่นชนบทที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่องด้วยความวิริยะ อุตสาหะจนบังเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน พระราชกรณียกิจของพระองค์ นำไปสู่การตื่นตัวด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพคณะรัฐมนตรี ในครั้งนั้น จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” ขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) ดูแลพัฒนาโครงการและรับผิดชอบงาน โดยเริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2537 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้ง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อเป็นหน่วยงานบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ฯ โดยได้มีพระราชกำหนดจัดตั้งองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2538 ให้มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

วัตถุประสงค์

  • เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชนบท •    เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ และปลูกฝังให้เยาชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • เพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินของครอบครัว รวมทั้งเป็นแหล่งท่อง เที่ยวของนักท่องเที่ยว  ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

บทบาทหน้าที่ สิ่งที่ อพวช. ให้กับประชาชน

  1. ความรู้รอบด้าน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ อพวช. รวบรวมมาจากหน่วยงานของรัฐและนักวิชาการภายในองค์กร ที่มีการสั่งสมมาเป็นเวลานานกว่า 26 ปี
  2. ความมีประโยชน์ ประโยชน์การดำรงชีวิตที่จะเป็นแรงต่อยอดสร้างความรู้รอบด้าน ให้กับตนเอง ครอบครัว และประเทศในตอนนี้และอนาคต
  3. ความเพลิดเพลิน ความสนุก ความสุขที่ได้รับ และแรงบันดาลใจใฝ่รู้ทางวิทยาศาสตร์ จากการเสพข้อมูลของ อพวช. ผ่านทางช่องทางและวิธีการต่าง ๆ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน