ประวัติการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ล้นเกล้าฯ ทรงมีต่อพสกนิกรและประเทศชาติโดยเฉพาะทรงเป็นผู้นำในการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยในท้องถิ่นชนบทที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่องด้วยความวิริยะอุตสาหะจนบังเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนพระราชกรณียกิจของพระองค์นำไปสู่การตื่นตัวด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ส่งผลต่อการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้นจึงได้ดำเนินโครงการ“พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้ง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ขึ้น มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นหน่วยงานบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ดำเนินการพัฒนา “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” ซึ่งตั้งอยู่ ณ เทคโนธานี เลขที่ 39 หมู่ 3 ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีจนแล้วเสร็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ว่า “อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี” อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นด้วยรูปทรงลูกบาศก์ 3 ลูกเชื่อมติดกัน ภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่นิทรรศการ 6 ชั้น ในพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร มีการจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐานวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน และวิทยาศาสตร์ในภูมิปัญญาไทยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2543
การออกแบบและก่อสร้างอาคาร
อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มหาราชินี เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงทันสมัย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นและสร้างภาพพจน์ใหม่ของพิพิธภัณฑ์สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมนายเฉลิมชัย ห่อนาค รองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะออกแบบ ได้สร้างสรรค์ความแปลกใหม่ของรูปทรงอาคารเชิงเรขาคณิตมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม และโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยการนำมุมแหลมของรูปทรงลูกบาศก์มาเป็นฐาน ใช้ลูกบาศก์ 3 ลูก พิงกันอย่างมีเสถียรภาพ มีฐานรับน้ำหนักเพียง 3 จุด ๆ ละ 4,200 ตัน โครงสร้างอาคารเป็นโครงเหล็ก ป้องกันสนิมโดยเคลือบด้วยสี Epoxy พื้นทั้ง 5 ชั้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ออกแบบให้รับน้ำหนักบรรทุกได้ 500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร รับแรงลมที่มาปะทะอาคารได้ 120 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนผนังอาคารเป็นแผ่นเหล็กเคลือบผิวด้วยเซรามิก (Ceramic Steel) มีคุณสมบัติที่ดีด้านความคงทนถาวร โดยไม่ต้องทาสีตลอดอายุการใช้งาน เป็นฉนวนป้องกันความร้อนซึ่งช่วยประหยัดพลังงานในการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารได้เป็นอย่างดีและอาคารสูงประมาณ 45 เมตร นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แต่ละชั้นประกอบด้วย สาระดังนี้
ชั้นที่ 1 นักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก กิจกรรมเสริมศึกษา โลกของหนูน้อยนักประดิษฐ์ (Enjoy Maker Space), Engineering Design, ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แบบโดม, การแสดงทางวิทยาศาสตร์ และนิทรรศการหมุนเวียน
ชั้นที่ 2 ประวัติและความเป็นมาของทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
ชั้นที่ 3 วิทยาศาสตร์พื้นฐาน อุโมงค์พลังงาน และ โรงภาพยนตร์พลังงาน 4 มิติ
ชั้นที่ 4 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย
ชั้นที่ 5 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
ชั้นที่ 6 เทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย
ชั้นที่ 1 ส่วนต้อนรับและแนะนำการเข้าชม
ทำความรู้จักกับความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ประวัตินักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก นิทรรศการ Clean Energy for Life นิทรรศการหมุนเวียน และกิจกรรมเสริมศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ Enjoy Maker Space, Engineering Design, ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แบบโดม, การแสดงทางวิทยาศาสตร์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เข้าชม ทั้งร้านอาหาร และร้านจำหน่ายของที่ระลึก
อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จำลอง
แบบจำลองรูปทรงลูกบาศก์ 3 ลูก
พิงกันอย่างสมดุล เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น
ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
และเป็นที่มาของชื่อเรียก "ตึกลูกเต๋า"
ประวัตินักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก
พื้นที่ที่รวบรวมประวัติของ
นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก
ที่มีส่วนในการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
นิทรรศการพลังงานไฟฟ้า พลังชีวิต (Clean Energy for Life)
การใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน เป็นนิทรรศการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมพัฒนาและจัดแสดงนิทรรศการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด ผ่านสื่อชิ้นงานและเรียนรู้วิวัฒนาการไฟฟ้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรียนรู้ความสำคัญของพลังงานหมุนเวียน สนุก ตื่นเต้นกับชิ้นงานปฏิสัมพันธ์ที่ทำให้รู้จัก เข้าใจพลังงานและพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
ห้องการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Theatre)
การแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) และละครวิทยาศาสตร์ (Science Drama) เป็นกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้สนใจในวิทยาศาสตร์แบบลง่าย นำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัวเรา โดยนำหลักการและการทดลองทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานมานำเสนอในรูปแบบการแสดงและละครที่สนุกสนาน พร้อมสื่ออุปกรณ์ประกอบการแสดง การแสดงแต่ละชุดใช้เวลาประมาณ 40-45 นาที รองรับผู้เข้าชมได้ 250-300 คนต่อรอบ
โรงภาพยนตร์วิทยาศาสตร์แบบโดม (Science Dome)
เป็นท้องฟ้าจำลองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดมโดม 14.5 เมตร จำนวน 96 ที่นั่ง มีเครื่องฉายดาวแบบดิจิตอลและห้องโดมโค้งที่เป็นฉากเสมือนราวกับได้อยู่ในเหตุการณ์จริง โดยจะฉายภาพยนตร์ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในรูปแบบ 3 มิติ หรือที่เรียกว่า Full Dome พร้อมการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวของดาราศาสตร์
ส่วนต้อนรับ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เข้าชม ร้านอาหารและร้านจำหน่ายของที่ระลึก
ผังนิทรรศการชั้นที่ 1
ชั้นที่ 2 ประวัติและความเป็นมาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นำเสนอประวัติความเป็นมาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มาของมนุษยชาติจากข้อสันนิษฐานการกำเนิดมนุษย์บนโลกนี้ และตื่นตาตื่นใจไปกับสื่อผสมภายในอุโมงค์ลูกโลกที่บอกเล่าเรื่องราวพลังของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติทั้งเชิงสร้างสรรค์และทำลายล้าง
กำเนิดมนุษยชาติ
ประวัติและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์
ทัศนะนักวิทยาศาสตร์เด่นของโลก
โลกที่เปราะบาง
ดินแดนวิทยาศาสตร์ (สำหรับเด็ก 3-10 ปี)
สนุกสนานไปกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เบื้องต้นและเพลิดเพลินไปกับการศึกษาธรรมชาติของสิ่งรอบตัว ด้วยชิ้นงานสีสันสดใส กระตุ้นความสนใจ ให้ลงมือทดลอง และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อสร้างทักษะและประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่น่าประทับใจแก่เยาวชนตัวน้อย
สนามเด็กเล่น
พื้นที่สำหรับหนูน้อยวัย 3-5 ปี เป็นพื้นที่เปิดให้หนูน้อยมีอิสระในการทดลอง สัมผัส ค้นหาของเล่นด้วยตนเอง สนุกสนานกับการปีนป่ายหน้าผาจำลอง หรือประกอบรูปทรงต่าง ๆ ในพื้นที่ที่จำลองบรรยากาศของบ้าน โดยผู้ปกครองสามารถสังเกตได้อย่างใกล้ชิด
ห้องวิทยาศาสตร์แสนสนุก
จัดแสดงชิ้นงานวิทยาศาสตร์ ที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6-10 ปี เน้นให้เด็ก ๆ ได้ทดลองเล่นและเกิดประสบการณ์ด้วยตนเองหรือทดลองเล่นไปพร้อมกับผู้ปกครอง ประกอบด้วยเรื่องการรับรู้ทางประสาทสัมผัส สนุกกับวัสดุรอบตัวเรา และการรีไซเคิล
ทดสอบความไวขณะขับรถยนต์
"ทดสอบความไวของประสาทสัมผัสที่
ทำงานร่วมกันระหว่างการมองเห็นและการ
ทำงานของสมอง”
สนุกกับวัสดุรอบตัวเรา
"เรียนรู้คุณสมบัติของวัสดุต่างๆ รอบตัวเรา
เช่น โลหะ พลาสติก ไม้ ผ้า และหนัง”
รีไซเคิล
ส่งเสริมให้เด็ก ๆ และเข้าใจหลักการ
ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า”
ห้องทดลองวิทยาศาสตร์
กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Science Lab) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้มีส่วนร่วมในการทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจและความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์รอบตัว รูปแบบการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในหลากหลายหัวข้อที่เชื่อมโยงกับกับหลักสูตรของโรงเรียนและกิจกรรมสำหรับครอบครัว ระยะเวลาในการทำกิจกรรม 1-2 ชั่วโมง
ผังนิทรรศการชั้นที่ 2
ชั้นที่ 3 วิทยาศาสตร์พื้นฐาน อุโมงค์พลังงาน และ โรงภาพยนตร์พลังงาน 4 มิติ
สนุกกับการทดลองและเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ฟิสิกส์ เคมีและคณิตศาสตร์ ผ่านชิ้นงานหลากหลายที่ล้วนส่งเสริมให้เกิดความสนใจใคร่ทดลอง และเรียนรู้ด้วยตนเอง ภายในชั้นนิทรรศการจัดแสดงอุโมงค์พลังงานขนาดใหญ่เพื่อให้เรียนรู้เรื่องพลังงานรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดินทางลอดอุโมงค์ และสร้างความตระหนักรู้ถึงพลังงานที่กำลังจะหมดไปจากการชมภาพยนตร์พลังงาน 4D
แรงและการเคลื่อนที่
ชิ้นงานแรงโน้มถ่วงและระบบสุริยะ "เรียนรู้จำลองการเคลื่อนที่ของวัตถุในระบบสุริยะจักรวาล ที่ถูกดึงดูดด้วยแรงโน้มถ่วงเข้าสู่ศูนย์กลาง"
ความเสียดทาน
ชิ้นงานไถลลงพื้นลาด "สังเกตการไถลลื่นของวัตถุว่า พื้นผิวของวัสดุชนิดใดมีความเสียดทานกระทำกับก้อนวัตถุนี้มากที่สุด"
แม่เหล็ก
ชิ้นงานหมุนขดลวดไฟฟ้า "สนุกกับการทดลองปั่นจักรยานที่มีกลไกเชื่่อมต่อกับขดลวดสร้างกระแสไฟฟ้าทำให้ไฟสว่างขึ้น"
ไฟฟ้า
ชิ้นงานคุณร้อนแค่ไหน "ทดลองนำแท่งวัตถุแต่ละชนิดมาถูกับขนสัตว์แล้วนำมาแตะเศษชิ้นอลูมิเนียมเล็ก ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น"
ความร้อน
ชิ้นงาน คุณร้อนแค่ไหน "ลองใช้ฝ่ามือวางทาบไปบนแผ่นวัสดุต่าง ๆ รู้สึกแตกต่างกันหรือไม่"
สสารและโมเลกุล
ชิ้นงาน พลาสมาบอล "สนุกกับสถานะที่ 4 ของสสาร"
คณิตสาสตร์
ชิ้นงาน ไกลแค่ไหน
"เรียนรู้การวัดจากอวัยวะบางส่วนของมนุษย์ เช่น คืบ วา ศอก และการวัดที่ใช้อุปกรณ์ เช่น การวัดระยะทางด้วยเชือก ไม้บรรทัด และวัดด้วยแสง"
ห้องแสง
ชิ้นงาน เงาสะท้อนจากกระจก "พิศวงไปกับการมองผ่านตู้กระจกนี้ สิ่งใดจะปรากฎ"
เสียง
ชิ้นงาน จานกระซิบ "สนุกกับค้นหาว่า จานทรงโค้งพาราโบลิกที่อยู่ห่างกัน 10 เมตร ทำให้เราได้ยินเสียงกระซิบระหว่างกันได้อย่างไร
อุโมงค์พลังงาน
ชิ้นงาน อุโมงค์พลังงาน "เรียนรู้เรื่องพลังงานภายในอุโมงค์ยาว 15 เมตร สนุกกับชิ้นงานจำลองเหตุการณ์แผ่นดินไหว"
โรงภาพยนตร์
ชิ้นงาน โรงภาพยนตร์ "ชมภาพยนตร์สั้น ประกอบเสียงดนตรีเร้าใจ ที่สื่อถึงพลังงานบนโลกใบนี้"
ผังพื้นที่นิทรรศการชั้น 3
ชั้นที่ 4 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย
เรียนรู้เรื่องราวรอบตัวที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งก่อสร้างและโครงสร้าง ธรณีวิทยา เทคโนโลยีดาวเทียม และ วิถีเกษตรแห่งความสุข
ภูมิอากาศ เรียนรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศ การเกิดฤดูกาล ทฤษฎีว่าด้วยการกำเนิดจักรวาล ความสำคัญของดวงอาทิตย์ต่อการเกิดสภาพภูมิอากาศ การเกิดเมฆ ลม และพายุ และการพยากรณ์อากาศ
กำเนิดฤดูกาล "สนุกกับการค้นหาปัจจัยของการเกิดฤดูกาลด้วยการหมุนลูกโลกจำลองนี้ "
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค้นหาสาเหตุและผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เรือนกระจก และแนวทางการรณรงค์เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้
โลกเปลี่ยนแปลงได้ด้วยมือเรา "หมุนลูกโลกจำลอง เพื่อดูข้อมูลปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละประเทศบนโลกผลิตขึ้น พร้อมสื่อให้เห็นว่าทุกคนช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางบวกหรือลบ"
โครงสร้างและสิ่งก่อสร้าง สนุกกับการทดลองและเรียนรู้เรื่องโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้แก่ เขื่อน อาคาร และสะพาน รวมถึงรูปแบบบ้านเรือนของไทยในแต่ละภาคซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัวตามสภาพภูมิอากาศและพื้นที่
พื้นที่ก่อสร้างจำลอง "สนุกไปกับความคิดสร้างสรรค์กับการก่อโครงสร้างด้วยตนเอง ด้วยก้อนอิฐจำลอง"
ธรณีวิทยา
สำรวจธรณีวิทยาของประเทศไทยในแต่ละท้องถิ่น การกำเนิดหินชนิดต่างๆ และการพัฒนาทรัพยากรธรณีมาใช้ประโยชน์
หุ่นจำลองนักธรณีวิทย "พบกับหุ่นจำลองอาจารย์วราวุธ สุธีธร ผู้บุกเบิกการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทย"
เทคโนโลยีดาวเทียม
ทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีและประโยชน์ของดาวเทียม รวมถึงชนิดของดาวเทียมที่ใช้ในประเทศไทย
ภาพถ่ายดาวเทียมขนาดใหญ่ กรุงเทพมหานคร
"การทำงานของดาวเทียมทำให้ได้ภาพรวมของพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน"
วิถีเกษตรแห่งความสุข
เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินไปกับระบบการทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีหลายรูปแบบ รวมถึงการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยี
ลุงต้นไม้
"เรียนรู้ถึงความเป็นมาของต้นไม้ใหญ่ก่อนที่เติบใหญ่เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นแก่โลกของเรา"
ผังนิทรรศการชั้นที่ 4
ชั้นที่ 5 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
เรื่องราววิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของเราและการดูแลสุขภาพ ระบบอัตโนมัติและวิทยาการหุ่นยนต์ ประวัติและพัฒนาการด้านคมนาคมขนส่ง ตลอดจนสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ
ร่างกายและสุขภาพ
ทำความรู้จักกับร่างกายของเราและการดูแลรักษาสุขภาพ ตั้งแต่เซลล์ไปจนถึงอวัยวะและการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม วิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี
แบบจำลองขนาดใหญ่ของเซลล์
ค้นหาว่าหน่วยที่เล็กที่สุดของร่างกายมนุษย์ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และทำหน้าที่อย่างไร
การคมนาคมขนส่ง
ตามรอยวิวัฒนาการในการประดิษฐ์คิดค้น และการสร้างยานพาหนะประเภทต่าง ๆ และการออกแบบเพื่อประหยัดพลังงานและลดมลภาวะในอากาศ
แบบจำลองห้องโดยสารเครื่องบิน
สนุกกับการสวมบทบาทผู้ควบคุมการบิน และผู้โดยสาร ภายในแบบจำลองห้องโดยสารเครื่องบิน พร้อมเรียนรู้วิวัฒนาการของการบิน
คุณภาพชีวิต
เรียนรู้ประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น พร้อมสะท้อนภาพ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้ชีวิตของมนุษย์
หุ่นจำลอง ปีศาจจากการบริโภค
แบบจำลองเชิงนามธรรมแสดงให้เห็นความสำคัญของการแยกขยะเพื่อหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และเรียนรู้วิธีง่าย ๆ เพื่อช่วยลดขยะ
ระบบอัตโนมัติและวิทยาการหุ่นยนต์
รู้จักกับประวัติความเป็นมาที่ยาวนานของหุ่นยนต์ ตั้งแต่ก่อนคริสตกาลจนถึงปัจจุบัน เพลิดเพลินไปกับเทคโนโลยี Flip Dot เรียนรู้หลักการทำงานของหุ่นยนต์เปรียบเทียบกับร่างกายของคนเราผ่านชิ้นงานปฏิสัมพันธ์
หุ่นยนต์โรโบเทสเปียน
“ มาพิสูจน์ว่าหุ่นยนต์ที่สามารถแสดงสีหน้า และท่าทางตามคำสั่ง จะตอบโต้อะไรกับเราได้บ้าง"
นาโน : คุณสมบัติมหัศจรรย์สู่นวัตกรรมโลก
พิศวงไปกับความสามารถและประโยชน์อันน่าทึ่งของอนุภาคนาโนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในแทบทุกเรื่อง รวมถึงเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยของนาโนเทคโนโลยี และการเลือกผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยี
แบบจำลองโครงสร้าง บัคกี้บอล หรือ บัคมินสเตอร์ฟลูเลอรีน
“แสดงโครงสร้างที่ประกอบขึ้นจากธาตุคาร์บอน 60 อะตอม (C60) เชื่อมต่อกันคล้ายลูกบอล และจะทำให้เราเข้าใจในความหมายของนาโนได้มากยิ่งขึ้น
ผังนิทรรศการชั้นที่ 5
ชั้นที่ 6 เทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย
นำเสนอวิถีชีวิตของคนไทยที่พัฒนาและสืบทอดเทคโนโลยีภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แสดงให้เห็นถึงความสามารถของคนไทยที่ผสานธรรมชาติให้เข้ากับวิถีชีวิต สู่การเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่พบได้ในเครื่องมือเครื่องใช้และผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ส่วนเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ชมผลงานอันมีที่มาจากพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ด้วยหัตถกรรมพื้นบ้าน นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม ผ่านศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ
ศิลปหัตถกรรม ศูนย์ศิลปาชีพ “พบกับความสวยงาม ประณีต และมีมูลค่า ที่กำเนิดมาจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น”
เทคโนโลยีการแกะสลัก
รู้จักกับวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และเทคนิควิธีการแกะสลักในวัสดุต่าง ๆ เช่น หิน ไม้ หนังสัตว์
โรงหนังตะลุง
"ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นของภาคใต้ ที่ใช้หลักของแสงและเงา"
เทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผา
ย้อนอดีตไปเรียนรู้ถึงวัสดุ อุปกรณ์ วิธีการ และขั้นตอนต่างในกระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผาในยุคสมัยต่างๆ
เตาเผาเครื่องปั้นดินเผาจำลอง
ชมพัฒนาการเตาเผาตั้งแต่วิธีก่อสุ่มไฟเผาภาชนะบนพื้นกลางแจ้ง จนมาถึงการสร้างเตาแบบขุดหลุม และเตาอุโมงค์”
เทคโนโลยีโลหกรรม
ชมความงดงามประณีตในผลงานเทคโนโลยีงานโลหกรรมของคนไทยในอดีต รวมถึงกระบวนการและเทคนิคในการทำ ได้แก่ การหล่อพระพุทธรูป การตีเหล็ก การทำบาตร และการทำเครื่องเงินเครื่องทอง
แบบจำลอง งานหล่อพระพุทธรูป
ชมศาสตร์และศิลป์ในกระบวนการหล่อพระพุทธรูปตั้งแต่การหลอมละลายโลหะจนสำเร็จเป็นองค์พระ
เทคโนโลยีเครื่องจักสาน
ทำความเข้าใจวัสดุอุปกรณ์ และขั้นตอนต่าง ๆ ของงานฝีมือแสนประณีตที่อยู่ในเครื่องใช้ไม้สอยด้วยเทคโนโลยีจักสาน
ครัวไทย
พบกับนานาเครื่องจักสานที่ใช้ในการประกอบอาหาร
เทคโนโลยีสิ่งทอ
พบกับผลิตผลจากเทคโนโลยีการทอผ้าที่มีขั้นตอนและรูปแบบแตกต่างกันตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น
ผ้าทอมือพระพระฉายาสาทิสลักษณ์
ผ้าทอมือที่ใช้เทคนิคการทอประเภทต่างๆ เป็นผ้าทอมือ มัดหมี่เส้นยืนทอเส้นพุ่งด้วยไหมไทยหลากสี โดยใช้เทคนิคเกาะล้วง (น้ำไหล) เทคนิคขิดฉากหลัง และเทคนิคจก
ผังนิทรรศการชั้นที่ 4
นิทรรศการชั้น 1 | นิทรรศการชั้น 2 | นิทรรศการชั้น 3 |