แผ่นเสียง ไวนิล (Vinyl)
เมื่อยุคแผ่นเสียงครั่ง (แผ่นเสียงที่ผลิตขึ้นจาก ชแลคผสมยางเหนียวกับครั่ง คนไทยรู้จักแผ่นเสียงครั่งครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5) ได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากแผ่นเสียงครั่งมีราคาแพงและวัสดุทีใช้ผลิตแตกหักและเสียหายได้ง่าย ในปี พ.ศ. 2491 บริษัทแผ่นเสียงโคลัมเบีย ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้พัฒนาแผ่นบันทึกเสียง ลองเพลย์ (Long played record /album) หรือ แผ่นเสียงไวนิล (Vinyl) ขึ้น (ไวนิล เรียกชื่อตามวัสดุที่ใช้ผลิต) ซึ่งมีขนาดบาง เบา ตกไม่แตก คุณภาพเสียงทุ้ม นุ่มนวล ลดเสียงรบกวนจากหัวเข็มเหลือเพียงเล็กน้อย สามารถบรรจุเพลงได้เพิ่มขึ้น แผ่นเสียงไวนิลมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 12 นิ้ว ความเร็วรอบอยู่ที่ 33 รอบ/นาที บันทึกได้หน้าละ 20 นาที (ราว 6-7 เพลง/หน้า)
ปัจจุบัน ในต่างประเทศ ยังมีการผลิตแผ่นเสียงไวนิลอยู่บ้างซึ่งจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ชอบฟังและสะสม ทำให้แต่ละอัลบั้มมีราคาสูง สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมแผ่นเสียงไวนิลได้ยกเลิกการผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เมื่อแถบบันทึกเสียงตลับ (Cassette Tape) เป็นที่นิยมมากขึ้น จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา แผ่นเสียงไวนิลกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง บริษัทค่ายเพลงต่างๆ ในเมืองไทยสั่งทำแผ่นเสียงไวนิลจากโรงงานที่ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ เยอรมนี โดยใช้ภาพปกต้นฉบับเดิมเพื่อเหมาะสำหรับนักสะสม ราคาจำหน่ายตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันบาทขึ้นไป
แผ่นเสียงไวนิล อัลบั้ม บาป บุญ ช่วยบอกเขาที ขับร้องโดย นักร้องอาชีพ 3 คน คือ เกศิณี วงษ์ภักดี, รังษิยา บรรณกร และรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ผลงานเพลงของ“วราห์ วรเวช” ซึ่งเป็นนามแต่งเพลงของ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ บรมครูนักแต่งเพลงไทยสากล ได้แต่งเพลงไทยสากลไว้มากมาย ระหว่าง ปี พ.ศ. 2525 - 2546 โดยเพลงที่สร้างชื่อเสียงอย่างมากคือ เพลงรักต้องห้าม ขับร้องโดย คุณรังษิยา บรรณกร และเพลงเทพธิดาดอย แต่งเนื้อร้องจากทำนองเพลงจีน ประกอบภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดาดอย ขับร้องโดย แพทย์หญิง พันทิวา สินรัชตานันท์ แผ่นเสียงไวนิล อัลบั้ม บาป บุญ ช่วยบอกเขาที นี้ กองวัสดุอุเทศ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้รวบรวมแผ่นเสียงไวนิลอัลบั้มอื่นๆไว้อีกมากมาย ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อขอเข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี