หากเล่าถึงความเป็นมาของ เพจเจอร์ หรือ วิทยุติดตามตัว เป็นอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาชนิดแรกๆ รองจากวิทยุสื่อสาร ที่ประชาชนทั่วไปสามารถมีไว้ครอบครองได้ พัฒนาและทำการจดสิทธิบัตรเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยอัลเฟต เจ. กรอส (Alfred j. Gross.) ชาวแคนนาดา สำหรับเพจเจอร์ในประเทศไทยนั้น มีการนำมาใช้งานในปี พ.ศ.2520 แต่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี พ.ศ.2530-2544 โดยมีบริษัท แปซิฟิก เทเลซิส เป็นผู้ให้บริการรายแรก ภายใต้ ชื่อ “แพคลิงค์” ซึ่งได้รับสัมปทานจาก การสื่อสารแห่งประเทศไทยต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้ให้สัมปทานแก่เอกชนรายอื่น เริ่มจาก “โฟนลิ้งค์” ของกลุ่มชินคอร์ป ตามด้วย “ฮัทชิสัน” ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง ฮัทชิสันวัมเปา และ ล็อกซเล่ย์ ที่เปิดให้บริการในเวลาใกล้เคียงกัน หลังจากนั้น กลุ่มเลนโซ่และกลุ่มยูคอมได้เปิดให้บริการเป็นรายต่อไป
การใช้งานเพจเจอร์ในยุคนั้นจะมีหมายเลขของ Call center ที่แตกต่างกันออกไป เช่น WorldPage 142 , PhoneLink 152,Hutchison 162 EasyCall 1500, PacLink 1144,Postel 1187/1188 เป็นต้น เนื่องจากเพจเจอร์ สามารถส่งข้อความได้อย่างเดียวจึงเป็นข้อจำกัดในการใช้ และไม่สามารถต้านทานกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ทำให้จำนวนผู้ใช้เพจเจอร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง
บริจาคโดย: คุณ ชัญญาภัค ทองจันทร์เทพ (น้องบี) นักวิชาการ 5 กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้ ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกการให้บริการในประเทศไทยแล้ว น้องบีเล่าว่า เพจเจอร์ในตอนนั้นถูกใช้งานโดย คุณ จันทร์ทิพย์ ทองจันทร์เทพ ประมาณ ปี 2543-2544 ใช้ในการติดต่อระหว่างการทำงานช่วงเวลานั้นการติดต่อด้วยวิธีนี้ถือว่า ทันสมัยประหยัดและรวดเร็วที่สุด