คาร์ล ฟอน ลินเด (Carl von Linde) เกิด 11 มิถุนายน พ.ศ. 2385
เมื่อรับประทานทานอาหารไม่หมด อาหารส่วนที่เหลืออยู่มักจะเน่าเสีย มนุษย์จึงคิดค้นวิธีถนอมอาหารไม่ว่าจะเป็นการขุดหลุมเก็บไว้ใต้ดิน การรมควัน การตากแห้งและการแช่เย็น แต่ว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ การนำอาหารแช่ตู้เย็นดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่สะดวกที่สุดสำหรับครัวเรือน นับจากแหล่งผลิต ระบบการขนส่ง จนมาถึงร้านค้าปลีก ย่อมมีระบบทำความเย็นรองรับทั้งสิ้น จุดเริ่มต้นในการคิดค้นเครื่องทำความเย็นนั้นมาจากข้อจำกัดในการผลิตเบียร์ของชาวเยอรมันที่จะทำได้เฉพาะฤดูหนาวหรือสร้างห้องใต้ดินที่บรรจุด้วยก้อนน้ำแข็งจำนวนมาก
ในปีพ.ศ.2414 ด้วยความร่วมมือกันระหว่างคาร์ล ฟอน ลินเด นักเคมีชาวเยอรมันกับผู้ประกอบกิจการผลิตเบียร์ชาวออสเตรียและชาวเยอรมัน หลังจากที่ลินเดตีพิมพ์ผลงานทฤษฎีของเครื่องทำความเย็นในวารสารของ “โพลีเทคนิค แอโซซิเอชั่นส์” (Polytechnic Association’s) โดยเครื่องทำความเย็นต้องไปติดตั้งให้โรงผลิตเบียร์ในออสเตรีย ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนชื้นไม่เหมาะกับการผลิตเบียร์ การประดิษฐ์เครื่องทำความเย็นรุ่นแรกนั้นประสบความล้มเหลวจากการรั่วซึมของเครื่องบีบอัดก๊าซ (Compressor) ที่รอยเชื่อมโลหะปรอท เป็นผลมาจากการออกแบบที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในการประดิษฐ์เครื่องทำความเย็นรุ่นที่สอง โดยเปลียนรูปทรงการใช้งานจากแนวตั้งมาเป็นแนวนอนและเปลี่ยนมาใช้แอมโมเนียแทนเมธิล
หลักการโดยทั่วไปของเครื่องทำความเย็นเริ่มจากก๊าซซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดความเย็นจะถูกอัดและดันไปตามท่อจนถึงเครื่องควบแน่น ก๊าซอยู่ในท่อยาวที่ถูกดัดให้โค้งงอไปรอบ ๆ ในบริเวณนี้จะถ่ายเทพลังงานความร้อนบางส่วนของก๊าซออกไปยังอากาศหรือน้ำที่อยู่โดยรอบ ก๊าซที่เย็นตัวลงแล้วนี้ จะไหลผ่านลิ้นลดแรงดันเข้าสู่บริเวณที่สามารถขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระหว่างที่ก๊าซขยายตัวจะได้รับพลังงานจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งรวมถึงอากาศภายในตู้เย็นด้วย ดังนั้นอุณหภูมิของอากาศภายในตู้เย็นจึงลดลง ส่วนอากาศที่ร้อนขึ้นนั้นจะถูกดันผ่านเครื่องอัดอากาศเพื่อเริ่มวงจรใหม่