นิตยสาร Bloomberg Businessweek ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2562 ใช้ภาพนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเป็นภาพหน้าปก เพื่อเชื่อมโยงถึงข่าวสารภายในฉบับเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ซึ่งบริษัทเฟซบุ๊กกำลังเผชิญ ทั้งด้านธุรกิจ ด้านเทคโนโลยี และด้านกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นหลัง ที่ส่งผลให้ผู้บริหารเฟซบุ๊กจำเป็นต้องขึ้นให้การกับศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายประเด็น สิ่งที่น่าสนใจบนปกนั้นคือโค้ดโปรแกรมสั้นๆ ไม่กี่บรรทัด อธิบายท่าทางอันเป็นเอกลักษณ์ของนายซักเคอร์เบิร์กระหว่างอยู่ภายในศาลด้วยสำนวนเชิงล้อเลียน ผ่านรูปแบบของภาษาโปรแกรมที่สื่อถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างชัดเจน
โค้ดโปรแกรมข้างต้นนี้ ในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์เรียกว่า Pseudocode หรือชุดคำสั่งเทียม ที่ใช้ถ่ายทอดลำดับขั้นตอนการทำงานหรืออธิบายแนวคิดการเขียนโปรแกรม โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับภาษาโปรแกรมมิ่งชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างเคร่งครัด โดยเนื้อหาของโค้ดชุดดังกล่าวมีใจความดังนี้
switch (publicApology) { // วิธีแถลงการณ์ต่อสาธารณะของนายซักเคอร์เบิร์ก
case 'empathetic': // เมื่อต้องการแสดงความเห็นอกเห็นใจ
setVision() // มองตรง
.makeEyecontact(); // สบตาผู้ฟัง
delay() // รอ
.then(() => {
speak('I AM SORRY')'; // กล่าวคำขอโทษ
})
coreTemperature(currentCoreTemp * 1.05); // อุณหภูมิร่างกายร้อนขึ้น 5%
ductControl()
.tears(2) // ปล่อยน้ำตา 2 หยด
.delay() // รอ
.then(() => {
wipeTear(); // ซับน้ำตา
});
return null; // จบการทำงาน
default: // กรณีอื่นๆ
return userHarvest({ // ตอบกลับด้วยข้อมูลจากผู้ใช้ระบบ Facebook
version: '6772b3',
});
}
จะเห็นได้ว่า Pseudocode นั้นสามารถถ่ายทอดข้อมูลให้ผู้อ่านรับทราบและเข้าใจความหมายที่อยู่เบื้องหลังได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วากยสัมพันธ์ (Syntax) เช่น ชุดคำสั่งหรือรูปแบบไวยากรณ์ทั้งหมดของภาษาโปรแกรมแต่อย่างใด
แหล่งข้อมูลค้นคว้าและภาพจาก:
[1] https://www.bloomberg.com/features/2019-facebook-neverending-crisis/
[2] https://www.bloomberg.com/features/2019-facebook-neverending-crisis/
ผู้เขียนและเรียบเรียง: นายวชิรพันธ์ เจริญเวช นักวิชาการ5 กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ