นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และมหาวิทยาลัย นอร์ธแคโรไลนา (University of North Carolina) ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และ โมเดอร์นา (Moderna) คิดค้น และพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิด mRNA ในรูปแบบ "แผ่นแปะ” ที่ทำจากพอลิเมอร์ขึ้นรูปด้วยเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ (3D-printing) ทำให้ได้แผ่นแปะที่มีรูปร่างสม่ำเสมอขนาด 1 ตารางเซนติเมตร ซึ่งประกอบด้วยเข็มขนาดเล็กระดับนาโนเมตรจำนวนมากที่บรรจุวัคซีนอยู่ โดยเข็มเล็กๆเหล่านี้มีความยาวเพียง 700 นาโนเมตร จึงไม่สามารถสัมผัสกับเส้นประสาทภายใต้ผิวหนังซึ่งอยู่ลึกลงไปมากกว่า 1 มิลลิเมตรได้ ทำให้ไม่เกิดอาการเจ็บปวดจากการใช้แผ่นแปะ และเมื่อเข็มเหล่านี้ทะลุผ่านผิวหนัง วัคซีนในสถานะกึ่งแข็งที่บรรจุอยู่ในเข็มจะได้รับความร้อนจากร่างกายแล้วกลายเป็นของเหลวซึมผ่านเข้าสู่ชั้นผิวหนัง ซึ่งจะกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันได้มากกว่าการฉีดวัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อโดยตรงแบบเดิมถึง 50 เท่า แม้แผ่นแปะวัคซีนแบบใหม่นี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแต่ก็เป็นที่จับตามองอย่างมาก เพราะนอกจากไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า วัคซีนชนิดนี้ยังไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียสเหมือนวัคซีนในปัจจุบัน ทำให้สะดวกต่อการขนส่งและสามารถใช้งานได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
เรียบเรียงโดย : อภิชญา กาปัญญา กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference):
This Tiny 'Vaccine Patch' Could Prompt Stronger Immune Response Than a Needle, [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.sciencealert.com/this-tiny-vaccine-patch-could-prompt-stronger-immune-responses-than-a-needle [4 ตุลาคม 2564]
วัคซีนโควิดแห่งอนาคต คิดค้น 'แผ่นแปะ' สร้างภูมิดีกว่าเดิม, [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.posttoday.com/world/664246 [4 ตุลาคม 2564]
Vaccine patches may replace injections for many people before long ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.cbsnews.com/news/vaccine-patches-needles-injections-replacement/ [4 ตุลาคม 2564]