ทำไมผู้ป่วยโควิด 19 สูญเสียการรับกลิ่นและรสชาติ

ทำไมผู้ป่วยโควิด 19 สูญเสียการรับกลิ่นและรสชาติ

03-05-2022
ภาพจาก: https://www.shutterstock.com/th/image-photo/sick-woman-trying-sense-smell-fresh-2056414043

ตามปกติ การติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ มักส่งผลชั่วคราวต่อระบบประสาทในการรับกลิ่น ไม่เว้นแม้แต่ โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ ไวรัส SARS-CoV-2  นอกจากอาการไอ หายใจถี่ และหอบเหนื่อยแล้ว ผู้ป่วยโรคโควิด 19 บางรายอาจสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นและรสชาติร่วมด้วย แม้ว่าจะไม่มีอาการหายใจติดขัดหรือมีน้ำมูกก็ตาม และเนื่องจากการรับกลิ่นและรสชาตินั้นเป็นสัมผัสที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้นการสูญเสียการรับกลิ่นจึงมักทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรสชาติไปพร้อมกันด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคโควิด 19 เฉลี่ยร้อยละ 48 และพบว่ามักเกิดขึ้นก่อนอาการอื่น ๆ โดยมีระยะเวลาของอาการดังกล่าวเฉลี่ย 8 วัน

จากงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances พบว่าผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการที่ไวรัส SARS-CoV-2 เข้าจับกับโปรตีนที่เรียกว่า Angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) ในเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการรับกลิ่นและรสโดยตรง แต่กลับพบ ACE2 เฉพาะในเซลล์ที่อยู่ล้อมรอบเซลล์ประสาทเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า การติดเชื้อของเซลล์บริเวณนี้จะนำไปสู่การอักเสบหรือความเสียหายในระดับที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรับกลิ่นและรสชาติได้

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าอาการสูญเสียการรับกลิ่นและรสชาตินี้จะไม่เด่นชัดในผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ติดเชื้อจากสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งเกิดขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 13 ของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ก็ยังคงมีอาการไอ น้ำมูกไหล และเมื่อยล้าไม่ต่างจากโรคโควิด 19 สายพันธุ์อื่น จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาการของโรคโควิด 19 ที่เกิดจากสายพันธุ์โอไมครอนนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทในการรับกลิ่นและรสชาติของผู้ป่วยได้เท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผลของการได้รับวัคซีน จึงส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อเปลี่ยนแปลงไป

ข่าวสารที่่คล้ายกัน