กินอาหารอย่างไรให้ถูกกับโรค

กินอาหารอย่างไรให้ถูกกับโรค

03-12-2021
กินอาหารอย่างไรให้ถูกกับโรค

“You are what you eat” คุณรับประทานอะไร คุณก็จะได้อย่างนั้น คำกล่าวเตือนใจสำหรับคนที่ห่วงใยสุขภาพของตนเอง ในยุคสมัยที่เรามีทางเลือกเกี่ยวกับอาหารมากมาย แต่คนส่วนใหญ่เลือกรับประทานอาหารที่สะดวกมากกว่าเลือกทานอาหารที่ดี จนกลายเป็นนิสัยและส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาว ปัจจุบัน ผู้คนเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นอกจากการออกกำลังกาย อาหารก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญ ยังมีวิธีการกินแบบ “วิธีโภชนบำบัด (Diet therapy)” ที่จะช่วยรักษาร่างกายของเราอีกทางหนึ่ง โภชนบำบัด หมายถึง การใช้อาหารและความรู้ด้านโภชนศาสตร์รักษาโรคของผู้ป่วย โดยดัดแปลงอาหารธรรมดาให้เหมาะกับโรคหรือความต้องการของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสรีรวิทยาขณะเจ็บป่วย วิธีนี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เพื่อให้การรักษาได้ผลเต็มที่ ร่วมไปกับการรักษาทางการแพทย์ นอกจากเราจะปฏิบัติตามได้เองแล้ว ทางสถานพยาบาลก็ยังใช้หลักโภชนาการนี้ในการดูแลผู้ป่วยตามลักษณะโรคต่าง ๆ อีกด้วย

อาหารเฉพาะโรค (Special Diet)
1. อาหารโปรตีนสูง (High Protein Diet) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดมา ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เสียเลือดมาก คุณแม่ตั้งครรภ์หรือหลังคลอด
2. อาหารโปรตีนต่ำ (Low Protein Diet) จะจำกัดการได้รับโปรตีน เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง
3. อาหารคาร์โบไฮเดรทสูง (High Carbohydrate Diet) เพิ่มปริมาณคาร์โบไฮเดรทสูงสำหรับผู้ป่วยโรคดีซ่าน ครรภ์เป็นพิษ และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้
4. อาหารคาร์โบไฮเดรทต่ำ (Low Carbohydrate Diet) เป็นอาหารที่มีการลดปริมาณแป้งและน้ำตาล ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคลมบ้าหมู ข้ออักเสบ และโรคช่องท้อง
5. อาหารไขมันสูง (High Fat Diet) เมื่อต้องการความร้อนหรือแคลอรี่สูงกว่าปกติ เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ใช้รักษาโรคท้องผูกเรื้อรัง ลมบ้าหมู กรวยไตอักเสบ แผลในกระเพาะและลำไส้
6. อาหารไขมันต่ำ (Low Fat Diet) ลดจำนวนไขมันลงเพื่อรักษาโรคไต ท้องเดิน โรคช่องท้อง โรคดีซ่าน และโรคอ้วน

จากแนวทางของวิธีโภชนบำบัด เช่น หากเป็นโรคเบาหวาน ควรเลือกรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรทต่ำ งดเว้นอาหารที่มีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้และข้าว เลือกรับประทานผักใบเขียวที่มีกากใยสูงให้มากขึ้น เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว โรคที่เป็นกับการเลือกอาหารที่ใช่สามารถช่วยส่งเสริมการรักษาทางการแพทย์ให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้นได้

 

ที่มาข้อมูล :
1. โภชนบำบัดเฉพาะโรค. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://bcaremedicalcenter.com/th/service03 [28 มีนาคม 2563]
2. กองบรรณาธิการ HD. โภชนบำบัด โรคที่ต้องควบคุม และระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ. [ออนไลน์]. 2017, แหล่งที่มา: https://www.honestdocs.co/nutrition-therapy-with-controlled-diet [28 มีนาคม 2563]
คำค้น : โภชนบำบัด, รักษาโรค
ผู้เขียน : นางสาวศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน