Crown shyness: การรักษาระยะห่างของพืชพรรณ

Crown shyness: การรักษาระยะห่างของพืชพรรณ

18-02-2022
Crown shyness: การรักษาระยะห่างของพืชพรรณ

ภาพจาก https://www.shutterstock.com/th/image-photo/canopy-trees-crown-shyness-green-nature-788616022

Social distancing หรือ ระยะห่างทางสังคม น่าจะเป็นคำที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การเข้าสังคมจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โชคดีที่เทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าสังคมโดยไม่ต้องใกล้ชิดกัน ดังนั้นหากคิดดูดี ๆ สิ่งที่เราเริ่มคุ้นเคยนี้อาจต้องเรียกว่า Physical distancing หรือ ระยะห่างทางกายภาพ

ระยะห่างทางกายภาพไม่ได้มีเฉพาะในมนุษย์และสัตว์เท่านั้น แต่พืชก็มีการรักษาระยะห่างทางกายภาพเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์เริ่มสังเกตเห็นปรากฎการณ์นี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 โดยพบว่าเรือนยอดของพืชจำพวกโอ๊ค สน และไม้ยืนต้นเขตร้อนบางชนิด เช่น ต้นยูคาลิปตัส ที่มีความสูงใกล้เคียงกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะเว้นระยะห่างจากกันอย่างชัดเจนจนเห็นเส้นสายสวยงาม เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Crown shyness หรือบางครั้งในภาษาไทยเรียกว่า ปรากฎการณ์ยอดไม้เขินอาย

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าปรากฎการณ์ยอดไม้เขินอายอาจเกิดขึ้นเพื่อลดความเสียหาย หรือบาดเจ็บจากการสัมผัส และเสียดสีเมื่อมีแรงลม ฝน ลดความเสียหายจากโรคพืชบางชนิด และแมลงศัตรูพืชที่มักติดต่อในพืชชนิดเดียวกัน ในพื้นที่เดียวกัน อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ต้นไม้ที่งอกใหม่ได้รับแสงไปใช้ในการเจริญเติบโตอีกด้วย กลไกที่ทำให้เกิดการรักษาระยะห่างนี้อาจเกี่ยวข้องกับเซลล์รับแสงของพืชซึ่งช่วยให้พืชหลบเลี่ยงส่วนที่เป็นร่มเงาของพืชต้นอื่น เพื่อให้รับแสงได้มากขึ้น หรือ อาจเกิดจากปรากฎการณ์อัลลีโลพาธี (Allelopathy) ที่พืชสร้างสารบางอย่างที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของต้นพืชอื่น ๆ ทำให้เกิดการรักษาระยะห่างทางกายภาพตามธรรมชาติ

การรักษาระยะห่างทางกายภาพเพี่อความปลอดภัย เป็นกลไกการปรับตัวที่แม้แต่พืช และสัตว์ในธรรมชาติก็ให้ความสำคัญเพื่อปกป้องตัวเอง และเผ่าพันธุ์จากอันตรายต่าง ๆ ดังนั้นเราซึ่งเป็นมนุษย์จึงควรรักษาระยะห่างทางกายภาพเอาไว้เพื่อป้องกันตัวเอง ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 การรักษาระยะห่างจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคร้ายได้

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ที่มาของแหล่งข้อมูล:

Gardening know how, Is Crown Shyness Real – The Phenomenon Of Trees That Don’t Touch [online], 2018, แหล่งที่มา: https://www.gardeningknowhow.com/ornamental/trees/tgen/what-is-crown-shyness.htm  [16 ธันวาคม 2564]

All you need is Biology, Crown shyness: trees that don’t touch [online], 2018, แหล่งที่มา:  https://allyouneedisbiology.wordpress.com/2018/12/09/crown-shyness-trees/ [16 ธันวาคม 2564]

Trees for Cities, Crown shyness [online], 2019, แหล่งที่มา:https://www.treesforcities.org/stories/crown-shyness  [16 ธันวาคม 2564]

Crown shyness: are trees social distancing too? [online], แหล่งที่มา:  https://www.nhm.ac.uk/discover/crown-shyness-are-trees-social-distancing.html  [16 ธันวาคม 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน