พฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะของคนในยุคปัจจุบันกำลังสร้างปัญหาครั้งใหญ่ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มาทำความรู้จักยาปฏิชีวนะหรือ Antibiotic ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบหรือยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เนื่องจากยาแก้อักเสบมีออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดงได้เท่านั้น
หลายคนเข้าใจผิดว่า หากอาการไม่ชัดเจน หรือยังไม่แสดงอาการ การทานยาปฏิชีวนะจะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ หรือการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกประเภท เช่น การเป็นหวัดหรือน้ำมูกไหลที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จะไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัส และทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น จะกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์และพัฒนาความต้านทานขึ้น เพื่อที่จะดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมให้ตัวเองอยู่รอด จนกลายเป็นเชื้อดื้อยา เมื่อเป็นเช่นนี้หากจำเป็นต้องรับการรักษา จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ ซึ่งอาจจะมีราคาแพงขึ้น และเหลือให้ใช้ได้อยู่ไม่กี่ชนิด จนสุดท้ายอาจจะไม่มียารักษา และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เนื่องจากไม่สามารถหายารักษาที่ถูกต้องได้
ดังนั้น ก่อนจะรับประทานยาปฏิชีวนะ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และรับประทานยาตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นและป้องกันเชื้อดื้อยา
ที่มาข้อมูล :
1. Thanet Ratanakul. กินดักไว้ก่อน อาจยิ่งเป็นปัญหา : เมื่อการดื้อยาปฏิชีวนะเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์เอง. [ออนไลน์]. 2019, แหล่งที่มา: https://thematter.co/science-tech/antimicrobial-resistance-crisis/90343 [4 พฤษภาคม 2563]
2. thitima. ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ. [ออนไลน์]. 2014, แหล่งที่มา: https://www.hsri.or.th/people/media/infographic/detail/5914 [7 พฤษภาคม 2563]
คำค้น : ยาปฏิชีวนะ, ดื้อยา, การดื้อยาของเชื้อโรค
ผู้เขียน : นางสาวศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.