ในธรรมชาติ มด จัดว่าเป็นสัตว์ผู้ล่าที่สามารถกินอาหารได้หลากหลายไม่เว้นแม้กระทั้งแมลงด้วยกันเอง หนอนผีเสื้อหลายชนิดก็กลายเป็นอาหารอันโอชะของมดด้วยเช่นกัน แต่หนอนผีเสื้อบางกลุ่มกลับมีวิวัฒนาการอย่างแนบแน่นกับมดจนแทบแยกออกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะหนอนในวงศ์ผีเสื้อสีน้ำเงิน (Lycaenidae) หนอนผีเสื้อบางชนิดในวงศ์นี้กินเฉพาะตัวอ่อนมดเป็นอาหาร เกิดเป็นความสัมพันธ์แบบภาวะล่าเหยื่อ (predation) แต่ในที่นี้ผู้ล่า (predator) คือ หนอนผีเสื้อ ส่วน มด กลายเป็นเยื่อ (prey) แทน ตัวอย่างเช่น หนอนผีเสื้อมอธ (Liphyra brassolis) สามารถสร้างสารฟีโรโมนที่คล้ายกับของมดแดง (Oecophylla smaragdina) จนสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในรังมดและคอยกินตัวอ่อนของมดแดงภายในรังจนกระทั่งเข้าดักแด้และออกมาเป็นตัวเต็มวัย
นอกจากนี้หนอนผีเสื้อบางชนิดมีความสัมพันธ์กับมดแบบภาวะพึ่งพาอาศัยกัน (mutualism) โดยหนอนผีเสื้อจะปล่อยของเหลวออกมาจากต่อมบนลำตัวซึ่งของเหลวนี้จะดึงดูดให้มดเข้ามากินและทำให้มดคอยทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองหนอนผีเสื้อจากศัตรูทั้งหลายจนไม่มีใครกล้ามายุ่งวุ่นวายกับหนอนอีกเลย แต่จากการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นพบว่าของเหลวที่หนอนผีเสื้อฟ้าไม้ก่อญี่ปุ่น (Arhopala japonica) ปล่อยออกมาให้มด (Pristomyrmex punctatus) กินนั้น ไม่ได้เป็นเพียงของเหลวธรรมดาเสียแล้ว เมื่อ ดอกเตอร์มาซารุ และทีมงานแห่งมหาวิทยาลัยโกเบ พบว่าของเหลวที่หนอนผีเสื้อฟ้าไม้ก่อญี่ปุ่นปล่อยออกมาทำให้มดงานที่กินของเหลวนี้เคลื่อนที่ช้าลงและตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อศัตรูของหนอนผีเสื้อมากกว่ามดที่ไม่ได้กินของเหลวนั้น แสดงว่าของเหลวที่หนอนผีเสื้อฟ้าไม้ก่อญี่ปุ่นปล่อยออกมานี้สามารถควบคุมมดได้ ซึ่งพฤติกรรมของหนอนผีเสื้อฟ้าไม้ก่อญี่ปุ่นนี้เข้าข่ายความสัมพันธ์ก้ำกึ่งในรูปแบบภาวะปรสิต (parasitism) ต่อสังคมมดนั่นเอง
ผู้เรียบเรียง : นายทัศนัย จีนทอง
ที่มาของภาพ : ทัศนัย จีนทอง, https://www.newscientist.com/article/dn27982-caterpillar-drugs-ants-to-turn-them-into-zombie-bodyguards/
ที่มาของแหล่งข้อมูล: https://jusci.net/node/3458
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/69653/-blo-scibio-sci-