“Food Coma” อาการง่วงนอนหลังรับประทานอาหาร

“Food Coma” อาการง่วงนอนหลังรับประทานอาหาร

02-12-2021
“Food Coma” อาการง่วงนอนหลังรับประทานอาหาร

หลังทานอาหารมื้อใหญ่ในช่วงกลางวัน อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกง่วงนอนในยามบ่าย รู้สึกไม่กระฉับกระเฉง และส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ทางการแพทย์ เรียกอาการง่วงนอนหลังรับประทานอาหารว่า “ฟู้ดโคม่า” (Food Coma) หรือ Postprandial somnolence เป็นอาการที่เกิดจากการรับคาร์โบไฮเดรตจากอาหารเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก ปริมาณอาหารที่มากเกินไปจะเปลี่ยนเป็นภาระหนัก เนื่องจากสมองมีกลไกสั่งให้ร่างกายใช้พลังงานในการย่อยอาหารมากขึ้น และลดพลังงานที่จะถูกนำไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จึงทำให้ร่างกายรู้สึกไม่มีแรง เฉื่อยชา และเซื่องซึม ในกระบวนการย่อยอาหาร คาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยเป็นน้ำตาล และปริมาณน้ำตาลที่สูงขึ้นจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อปรับปริมาณน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งการหลั่งอินซูลินจะทำให้ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และเมลาโทนิน (Melatonin) ออกมาด้วย เซโรโทนิน มีส่วนสำคัญในการทำงานของร่างกายและจิตใจ รวมถึงควบคุมเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางอารมณ์ เช่น ความหิวและความง่วง ส่วนเมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับ และเป็นนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ของร่างกาย ฮอร์โมนทั้งสองจะทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และเกิดอาการง่วงนอน อย่างไรก็ตาม เราสามารถหลีกเลี่ยงอาการฟู้ดโคม่าได้ด้วยการลดอาหารจำพวกแป้ง ของหวาน และเครื่องดื่มรสหวาน เพื่อลดภาระในการย่อยอาหาร รวมทั้งควรนอนหลับให้เพียงพอในตอนกลางคืน เพื่อให้ร่างกายกระฉับกระเฉงตลอดวัน

 

ที่มาข้อมูล :
1. กินแล้วง่วงมากทำไงดี? วิธีแก้ Food Coma อาการเจ้าหญิงนิทราหลังการกิน. [ออนไลน์]. 2018, แหล่งที่มา : https://thematter.co/science-tech/food-coma-sleepy/65439 [11 กันยายน 2563]
2. รู้จัก “ฟู้ดโคม่า” อาการง่วงนอนหลังกินข้าว ที่ชาวออฟฟิศเป็นกันเยอะ. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา :
https://www.terrabkk.com/articles/197183/รู้จัก-ฟู้ดโคม่า-อาการง่วงนอนหลังกินข้าว-ที่ชาวออฟฟิศเป็นกันเยอะ [11 กันยายน 2563]
3. เหตุใดถึงง่วงนอน หลังทานอาหาร. [ออนไลน์]. 2017, แหล่งที่มา :
https://www.educatepark.com/story/sleepy-after-meal-causes-and-prevention/ [11 กันยายน 2563]
คำค้น : ฟู้ดโคม่า (Food Coma), Postprandial somnolence, ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin), ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin), เมลาโทนิน (Melatonin), นาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm)

ผู้เขียน : นางสาวชญานุช เรืองจันทร์ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน