ลูมินอล ผู้ช่วยเปิดเผยเงื่อนงำอำมหิต

ลูมินอล ผู้ช่วยเปิดเผยเงื่อนงำอำมหิต

03-04-2023
ภาพลูมินอลทำปฏิกิริยากับคราบเลือดที่เหลืออยู่บริเวณท่อน้ำทิ้ง ได้รับความอนุเคราะห์จาก Jose Rosales กรมตำรวจฮอลันเดล รัฐฟลอริดา (ภาพจาก https://www.sciencedirect.com/topics/nursing-and-health-professions/luminol)

ถึงแม้ว่าในเหตุการณ์อาชญากรรมหลายคดี ผู้ต้องหาจะพยายามปิดบังอำพรางหลักฐาน ที่จะสืบสาวมาถึงตัวเองได้ เช่น คราบเลือดในสถานที่เกิดเหตุมักถูกชะล้างเพื่อบิดเบือน และปกปิดความผิด แต่นักนิติวิทยาศาสตร์ก็สามารถตรวจพบคราบเลือดในที่เกิดเหตุได้จากสารเคมีบางชนิด

ลูมินอล (Luminol, สูตรเคมี C8H7N3O2) เป็นผงสารเคมีที่ถูกนำมาผสมกับไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide, สูตรเคมี H2O2) และสารประกอบอื่น ๆ ให้อยู่ในรูปของเหลว เมื่อนำไปพ่นในบริเวณที่สงสัย ลูมินอลจะทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็กในฮีโมโกลบินของคราบเลือดที่มีแม้เพียงเล็กน้อย รวมถึงคราบเลือดที่ถูกทำความสะอาดไปนานจนมองไม่เห็น ทำให้เกิดการเรืองแสงสีฟ้าขึ้นประมาณ 30 วินาที ในบริเวณที่มีคราบเลือดอยู่ เรียกปฏิกิริยานั้นว่า“ปฏิกิริยาเคมิลูมิเนสเซนซ์” (Chemiluminescence) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สารปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของแสงหลังจากถูกกระตุ้นด้วยปฏิกิริยาเคมี   

การพิสูจน์หลักฐานในไทยมักจะไม่ค่อยใช้ลูมินอล แต่ในต่างประเทศลูมินอลนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เราอาจเคยได้ยินชื่อของลูมินอลจากละคร และภาพยนตร์ต่างประเทศ ลูมินอลช่วยเปิดเผยรูปร่าง และการกระจายของเลือดที่ชัดเจน นำไปสู่การวิเคราะห์รูปแบบการสังหาร เพราะการกระจายของเลือดจากการถูกยิงด้วยปืน หรือแทงด้วยมีดมีรูปแบบที่แตกต่างกัน และบางกรณีที่เลือดติดกับรองเท้าของผู้ต้องหา ลูมินอลจะช่วยเผยทิศทาง ลำดับขั้นของคดี รูปแบบการเคลื่อนย้าย และวิธีการจัดการศพด้วย

แม้ลูมินอลจะมีประโยชน์ในการสืบคดี แต่ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ สารชนิดนี้ไม่สามารถตรวจพบคราบเลือดที่ถูกชะล้างด้วยสารทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือผงซักฟอก ในการสืบสวนการใช้ลูมินอลมักเป็นวิธีการสุดท้ายที่ใช้ในการหาหลักฐานในพื้นที่ต้องสงสัย เพราะการพ่นลูมินอลจะต้องทำในพื้นที่ทั่วทั้งบริเวณซึ่งอาจทำลายหลักฐานอื่น ๆ ในสถานที่เกิดเหตุได้

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

อ้างอิงจาก

Crime Scene Chemistry – Luminol, Blood & Horseradish. [ออนไลน์]. 2014, แหล่งที่มา: http://www.compoundchem.com/2014/10/17/luminol/  [14 มีนาคม 2566]

How Luminol Works. [ออนไลน์]. 2015, แหล่งที่มา:https://science.howstuffworks.com/luminol3.htm [14 มีนาคม 2566]

Luminol.  [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Luminol#section=European-Community-(EC)-Number [14 มีนาคม 2566]

 

ข่าวสารที่่คล้ายกัน