ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีไข้หลังฉีดวัคซีนโควิด 19

ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีไข้หลังฉีดวัคซีนโควิด 19

03-12-2021
ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีไข้หลังฉีดวัคซีนโควิด 19

        จากกรณีผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอาการตัวร้อนเหมือนเป็นไข้ โดยอาการไข้ที่เกิดขึ้นนี้จัดเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ตามปกติในผู้ที่รับการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคอื่นหรือวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ก็จะมีปฏิกิริยาคล้ายคลึงกัน เนื่องจากเมื่อวัคซีนเข้าสู่ร่างกายแล้วร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อการได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด แมคโครฟาจ (Macrophages) ซึ่งเป็นเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อในร่างกาย และเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อ จะมาทำปฏิกิริยากับวัคซีนและเริ่มผลิตสารที่เรียกว่า ไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่หลั่งออกมาเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันในภาวะที่ถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจน (Antigen) หรือเชื้อโรครวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายของเรา หรือตอบสนองต่อภาวะการอักเสบ (Inflammation) ซึ่งการอักเสบเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม การตอบสนองดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบมีอาการปวด บวม ในบริเวณที่ได้รับวัคซีน จนถึงทำให้เกิดอาการไข้ ปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยตามร่างกายขึ้น อาการข้างเคียงเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติเมื่อได้รับวัคซีน เรียกว่า การตอบสนองต่อวัคซีน (Reactogenicity) อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดขึ้นกับวัคซีนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยอาการดังกล่าวจะหายภายใน 2-3 วัน ดังนั้น หลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แล้ว และพบว่ามีอาการไข้เกิดขึ้น ก็สามารถรับประทานยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ เพื่อบรรเทาอาการได้ และหากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อไป

 

เรียบเรียงโดย: ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.

ที่มาข้อมูล:
การฉีดวัคซีนโควิด-19 (อาจ) ส่งให้ผลเกิด ผลข้างเคียง อย่างไรบ้าง. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://ngthai.com/science/35812/covid19sideeffects/ [15 มิถุนายน 2564]
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุ ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca เกิดในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าคนสูงอายุ. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://thestandard.co/expert-physicians-mentioned-astrazeneca-cause-side-effect-on-young-more-than-old/ [15 มิถุนายน 2564]
กรมควบคุมโรคเผย "หนุ่ม-สาว" ฉีดแอสตราเซเนกา มีไข้ เรื่องปกติ. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://news.thaipbs.or.th/content/305078 [15 มิถุนายน 2564]
ยาต้านไซโตไคน์กับการรักษาโควิด-19. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/505/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94-19/ [15 มิถุนายน 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน