กรดอัลฟาไลโปอิก (ALA) สารอาหารต้านเบาหวาน ละลายได้ทั้งน้ำและน้ำมัน

กรดอัลฟาไลโปอิก (ALA) สารอาหารต้านเบาหวาน ละลายได้ทั้งน้ำและน้ำมัน

02-12-2021
กรดอัลฟาไลโปอิก (ALA) สารอาหารต้านเบาหวาน ละลายได้ทั้งน้ำและน้ำมัน

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานเนื่องจากความผิดปกติในการหลั่งอินซูลิน การที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดความผิดปกติต่อโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ไต ตา เส้นประสาท หลอดเลือดและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันและเรื้อรัง จนอาจอันตรายถึงชีวิตได้ จากการสำรวจในปี พ.ศ.2538 พบว่าประเทศไทยมีผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน 863,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 1,536,000 คน ในปี พ.ศ. 2543 และคาดว่าในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 2,739,000 คน (WHO, 2006) โรคเบาหวานแม้จะรักษาไม่หาย แต่สามารถควบคุมโรคโดยการดูแลตนเองให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม ด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ควบคุมอารมณ์ การจัดการความเครียด และการใช้อาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ

กรดอัลฟาไลโปอิก (Alpha-lipoic Acid, ALA) พบได้ในอาหารบางชนิด อาหารประเภทเนื้อวัวไม่ติดมัน หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ หัวใจ และไต และยังพบได้ในผักใบสีเขียวเข้ม ผักโขม บล็อคโคลี่ ยีสต์ มันฝรั่ง รำข้าว และมะเขือเทศ จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง จนได้รับการขนานนามว่า สารต้านอนุมูลอิสระครอบจักรวาล (Universal Antioxidant) คือ เป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่น ๆ และวิตามิน เช่น วิตามินซี วิตามินอี กูลต้าไธโอน และโคเอ็นไซม์คิว 10 โดยกรดอัลฟาไลโปอิกจะให้อิเล็คตรอนกับสารเหล่านี้ ผลจากการให้อิเล็คตรอน จึงทำให้สารเหล่านี้กลับมาอยู่ในรูปที่ใช้งานได้อีกหลังจากที่ใช้ในการกำจัดอนุมูลอิสระไปแล้ว กรดอัลฟาไลโปอิก สามารถละลายได้ทั้งในน้ำ และ ไขมัน จึงสามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์เข้าไปภายในเซลล์ จึงทำให้สามารถแทรกซึมเข้าไปต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในเซลล์ได้ทั่วทุกเซลล์ในร่างกาย กรดอัลฟาไลโปอิก มีบทบาทหลักในการย่อยเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน โดยมีคุณสมบัติเสริมการออกฤทธิ์กับอินซูลิน กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนในการย่อยสลายน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน และทำลายอนุมูลอิสระที่ถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการสลายน้ำตาลกลูโคสภายในเซลล์ จึงมีส่วนช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี และอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น โรคเกี่ยวกับปลายประสาทอักเสบ อาการชาตามปลายมือ-ปลายเท้า ต้อกระจก ผลงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา University of California USA พบว่า การรับประทาน กรดอัลฟาไลโปอิก ในปริมาณ 25 mg/kg ยังสามารถป้องกันโรคต้อกระจกได้ถึง 60% ทำให้หลายประเทศอนุมัติให้ กรดอัลฟาไลโปอิก เป็นยารักษาโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน

 

ที่มาข้อมูล :
1. อัลฟาไลโปอิคแอซิด (Alpha-Lipoic acid, ALA) สารต้านอนุมูลอิสระครอบจักรวาล ชะลอความแก่ วิตามินผิวสวย ตัวช่วยเบาหวาน ลดนำตาลในเลือด, แหล่งที่มา : https://www.healthysuggest.com/lipoic/ [ 9 กันยายน 2563 ]
2. "(Alpha Lipoic Acid)". [2017], แหล่งที่มา : http://www.biopanax.com/th/health-info-3/8-alpha-lipoic-acid.html [ 9 กันยายน 2563 ]
3. Vitamin Database อัลฟาไลโปอิก, แหล่งที่มา : https://www.vitaboost.me/article/page_content/93 [ 14 สิงหาคม 2563 ]
4. พฤติกรรมการดูแลตนเองและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานโรงพยาบาลเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธาน [2015] , แหล่งที่มา : file:///C:/Users/Administrator/Downloads/52555-Article%20Text-121849-1-10-20160321.pdf [ 15 กันยายน 2563 ]
5. การศึกษาผลของโคเอนไซม์คิว 10 และกรดอัลฟาไลโปอิก ต่อระดับออกซิไดซ์แอลดีแอล, [2019] แหล่งที่มา: http://libdoc.dpu.ac.th/thesis/Phonlawat.Pre.pdf [ 1 ตุลาคม 2563 ]
คำค้น : Alpha Lipoic Acid, ALA, กรดอัลฟาไลโปอิค, สารอาหารต้านเบาหวาน

ผู้เขียน : นางสาวทิพย์อัมพร เอี่ยมสอาด กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน