ดื่มน้ำกับยาอย่างไรให้ถูกวิธี

ดื่มน้ำกับยาอย่างไรให้ถูกวิธี

02-12-2021
ดื่มน้ำกับยาอย่างไรให้ถูกวิธี

เมื่อร่างกายเจ็บป่วย เราต้องทานยาเพื่อรักษาอาการป่วย แต่การทานยาอย่างไม่ถูกวิธีอาจทำให้อาการป่วยไม่ทุเลา หรือบางรายอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น การทานยาพร้อมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ นอกเหนือจากน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติ ไม่ว่าจะเป็น นม น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือแม้แต่น้ำเปล่าอุ่น ๆ ก็ไม่ควรทานกับยาบางชนิด

ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยที่บ่งบอกว่า การทานยากับน้ำอุ่นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็มียาบางประเภทที่ทำปฏิกิริยากับน้ำอุ่นจัด ทำให้เกิดกรดน้ำส้ม (Acetic acid) หรือเสียฤทธิ์ยา เช่น ยากลุ่มแอสไพริน เป็นต้น จากงานวิจัยของ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า น้ำอุ่นที่ร่างกายได้รับอาจมีผลต่อตัวยาบ้างเล็กน้อยแต่ก็ไม่ทำให้เกิดอันตราย เช่น อาจทำให้ตัวยาแตกตัวเร็ว ละลายง่าย และดูดซึมเร็วขึ้น

หลายคนนิยมรับประทานยาพร้อมกับนม ซึ่งนมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแคลเซียมสูง จึงไม่ควรดื่มคู่กับยาบางประเภท เช่น กลุ่มยาแก้อักเสบเตตราไซคลีน (Tetracycline) ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับนม โดยแคลเซียมจากนมจะทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ นอกจากนั้นนมยังทำให้การดูดซึมของยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ลดลงอีกด้วย

นอกจากนี้ไม่ควรดื่มน้ำผลไม้พร้อมกับยา โดยเฉพาะน้ำผลไม้ที่มีความเป็นกรด เนื่องจากยาบางชนิดสลายตัวอย่างรวดเร็วในกรดและแตกตัวเป็นไอออนได้ร่างกายจึงดูดซึมยาได้น้อยลง ซึ่งยาจะถูกดูดซึมไปใช้เมื่ออยู่ในรูปที่ไม่แตกตัวเป็นไอออนเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยพบว่า น้ำผลไม้ที่ทำจากเกรปฟรุต (Grapefruits) ซึ่งเป็นน้ำส้มชนิดหนึ่งที่ชาวตะวันตกนิยมดื่ม มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาหลายชนิด เช่น ยาฟิโลดิปีน (Felodipine) และยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium Channel Blocker) ที่ช่วยลดความดันโลหิต ยาซิมวาสแตติน (Simvasatatin) ซึ่งเป็นยาลดไขมันในเลือดที่อยู่ในกลุ่มสแตติน (Statins) และยาไดอะซีแพม (Diazepam) ที่ช่วยคลายเครียด เนื่องจากไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โดยการเปลี่ยนแปลงระดับยาในเลือดให้เพิ่มสูงขึ้นซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้

ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดของการทานยา คือ ควรทานยากับน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติ ไม่เย็น หรือไม่อุ่นจนเกินไป แม้จะไม่มีงานวิจัยว่าน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นมีอันตรายต่อสุขภาพเมื่อดื่มพร้อมกับยา แต่น้ำอุณหภูมิห้องปลอดภัยต่อการทานยามากที่สุดแล้ว

 

ที่มาข้อมูล :
กินยาพร้อมนม ได้ผลหรือไม่?. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/460/กินยาพร้อมนม/ [19 ตุลาคม 2563]การดูดซึมและการเพิ่มชีวประสิทธิผลของยาเตรียมที่ให้ทางปาก. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา http://ccpe.pharmacycouncil.org/showfile.php?file=87 [11 พฤศจิกายน 2563]
คำค้น : น้ำที่ใช้ทานยา, ทานยากับอะไร

ผู้เขียน : นางสาวรวิภา ขำสวัสดิ์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม ผู้อำนวยการกองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน