ทหารกำลังเข้ารับการรักษาโรคไข้หวัดสเปน ที่โรงพยาบาลใน แคมป์ ฟันสตัน (Camp Funston)
รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา ภาพจาก www.wikipedia.org
ขณะที่ทั่วโลก กำลังอยู่ในช่วงการต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมาจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ SARS-CoV-2 นั้น หากย้อนหลังไป 100 ปี โลกเคยประสบกับสภาวการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามาแล้ว โดยในช่วงปี พ.ศ. 2461 เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาชนิด A (H1N1) โดยที่มาของไข้หวัดใหญ่สเปนอาจคล้ายกับไข้หวัดนก และโรคโควิด-19 คือมีการแพร่เชื้อจากสัตว์มาสู่คน และมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป คือเป็นไข้ ไอ จาม คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และท้องเสีย โดยในตอนนั้นไข้หวัดใหญ่สเปนมาจากไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่มีความร้ายแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกในส่วนต่างๆ ภายในร่างกาย และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว และที่เชื้อไข้หวัดสเปนแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เพราะสามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศเช่นเดียวกับไข้หวัดทั่วไปนั่นเอง
ต้นกำเนิดของโรคนั้น มีข้อสันนิษฐานต่อมาว่า อาจไม่ได้เกิดที่ประเทศสเปน แต่เนื่องจากในช่วงเวลาของการระบาดอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และสเปนไม่ได้เข้าร่วมสงคราม จึงมีการกระจายข่าวเรื่องการแพร่ระบาด ขณะที่ประเทศอื่น มีการแพร่ระบาดแต่มีการปิดข่าว เพราะอยู่ในภาวะสงครามโลก คนทั่วไปจึงเหมาจากแหล่งข่าวว่าต้นตอของโรคมาจากประเทศสเปน
โรคไข้หวัดใหญ่สเปนทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตราว 675,000 คน และมีผู้ติดเชื้อทั่วอเมริกาประมาณ 22 ล้านคน โดยมีการคาดการณ์ในตอนนั้นว่าอาจมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกประมาณ 500 ล้านคน คิดเป็น 27 % ของจำนวนประชากรทั่วโลกในตอนนั้นที่มีประมาณ 1.8-1.9 พันล้านคน ภายในระยะเวลาสามปีของการระบาด ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกไปราว 50 ล้านคน และอาจมากถึง 100 ล้านคนก็เป็นได้ เพราะการเก็บสถิติสมัยนั้นยังไม่แม่นยำและละเอียดเท่ากับสมัยนี้ สำหรับในประเทศไทย มีการบันทึกในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 เล่มที่ 36 หน้าที่ 1193 สรุปความว่า มีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศไทยประมาณ 2,300,000 คน โดยประชากรไทยในตอนนั้นมีประมาณ 8,400,000 และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 80,000 ราย
โรคไข้หวัดใหญ่สเปนค่อยๆ ลดการระบาดลงในช่วงปลายปี พ.ศ. 2462 และหายไปในปลายปี พ.ศ. 2463 โดยมีสมมติฐานว่า ไวรัสได้กลายพันธุ์จนความรุนแรงของมันจึงค่อยๆ ประกอบกับภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการขึ้นจนสามารถต่อต้านไวรัสในร่างกายได้ ด้วยข้อสันนิษฐานนี้ หากมองในแง่ดี โรคโควิด-19 ก็อาจจะคลายความรุนแรงได้เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ
ผู้เขียนและเรียบเรียง อานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการวิชาการ อุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
อ้างอิง http://www.ift2004.org/showimgdetil.php?id=4
https://www.france24.com/en/20200320-how-does-the-coronavirus-compare-to-the-spanish-flu
http://www.voicetv.co.th/read/YX4hHxUXs
https://www.gqthailand.com/culture/article/spanish-flu