ช้างที่กำลังทำการแสดง
ในอดีตละครสัตว์เป็นการแสดงที่สร้างความบันเทิงโดยมีนักแสดงที่เป็นมนุษย์และสัตว์ทำการแสดงร่วมกัน แต่ปัจจุบันละครสัตว์ถูกต่อต้านเนื่องจากพบว่าสัตว์ในคณะละครสัตว์มักถูกทารุณ เช่น ถูกบังคับ เฆี่ยนตีด้วยอุปกรณ์สร้างความเจ็บปวดระหว่างการฝึกซ้อม การแสดงหวาดเสียว และฝืนธรรมชาติ อีกทั้งระหว่างที่คณะละครสัตว์เร่ร่อนไปจัดแสดงในพื้นที่ต่าง ๆ สัตว์จะต้องถูกขังอยู่ในที่แคบอย่างรถบรรทุก อดอาหารและน้ำเป็นเวลานาน รวมทั้งไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควร ทำให้สัตว์ป่วย พิการ และอายุขัยสั้นกว่าที่ควร
คณะละครสัตว์ในเยอรมนีไดมีแนวคิดใช้ภาพโฮโลแกรมแทนสัตว์เพื่อลดปัญหาการทารุณกรรม โดยคณะละครสัตว์รอนคาลลี (Roncalli) ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นคณะละครสัตว์ที่เก่าแก่และเริ่มแสดงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ตัดสินใจนำเทคโนโลยีภาพโฮโลแกรม แบบ 3 มิติ (3D Hologram) เข้ามาทดแทนการใช้สัตว์จริงในการแสดง โดยผู้ชมจะได้รับชมภาพโฮโลแกรม 3 มิติ จำลองสัตว์ต่างๆ ทั้งช้าง ม้า เสือ สิงโต ที่มีขนาดเท่ากับตัวจริง ทำการแสดงรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การแสดงตลก มายากล และผาดโผน เช่นเดียวกับละครสัตว์แบบดั้งเดิม ซึ่งเทคนิคดังกล่าวถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 โดยอาศัยการสร้างภาพเคลื่อนไหว(Animation) ของสัตว์ต่างๆที่งดงามราวกับมีชีวิตด้วยคอมพิวเตอร์ และใช้เครื่องฉายภาพจำนวนถึง 11 เครื่องเพื่อฉายภาพสัตว์ลงบนเวที ร่วมกับผู้แสดงที่เป็นมนุษย์เพื่อมอบความสุข และประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ชม
สำหรับประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งยังคงมีการนำสัตว์มาแสดงโชว์อยู่ เช่น ช้าง ลิง ปลาโลมา เป็นต้น แม้สัตว์เหล่านี้จะได้รับการดูแลอย่างดี ไม่ถูกบังคับให้ฝึก และไม่ทำการแสดงที่อันตราย แต่การล่าม กักขัง ตลอดจนการได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม ก็ส่งผลทำให้สัตว์ป่วย เกิดความเครียดสะสม และมีอายุขัยสั้นลง การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการแสดงเช่นเดียวกับละครสัตว์รอนคาลลีอาจเป็นทางเลือกที่ดีซึ่งจะทำให้เราได้ชมการแสดงจากสัตว์ที่น่ารักโดยไม่ต้องทารุณกรรมสัตว์เหล่านั้น
ช้างโฮโลแกรมกำลังทำการแสดง ของคณะละครสัตว์รอนคาลลี (Roncalli)
https://www.flickr.com/photos/circusroncalli/45887455282/sizes/l/
อ้างอิง
Carly Sitzer และ Green Matter (2019). This German circus is using holographic animals instead of real ones. จาก https://www.weforum.org/agenda/2019/07/this-circus-in-germany-is-using-holograms-instead-of-real-animals?fbclid=IwAR1JPC6xBor1XEYIjgZGlpZqphLSRGlTLLC75EHvJJ-UgeufnusfyxahvAg เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
ผู้เขียน: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์