โปรตีนเกษตรทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้จริงหรือ

โปรตีนเกษตรทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้จริงหรือ

02-12-2021
โปรตีนเกษตรทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้จริงหรือ

ในปัจจุบันมีผู้บริโภคบางส่วนงดเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ เนื่องจากเหตุผลทางด้านความเชื่อต่าง ๆ อีกทั้งผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพเป็นพิเศษ ตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคเหล่านี้จึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของตนโดยหลีกเลี่ยงหรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งบางคนอาจเป็นกังวลว่าถ้าไม่รับประทานเนื้อสัตว์ จะส่งผลให้ร่างกายขาดโปรตีนหรือไม่ เพราะโปรตีนมีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ และเราได้รับโปรตีนส่วนใหญ่มาจากเนื้อสัตว์

โปรตีนเกษตรเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติและกินเจ โปรตีนเกษตรทำมาจากแป้งถั่วเหลืองที่ผ่านการสกัดไขมันออกไป (Defatted soy flour) นำมาผ่านกระบวนการอัดพอง (Extrusion) ด้วยความดันและอุณหภูมิสูงจนได้เป็นโปรตีนเกษตรแห้งรูปทรงต่าง ๆ จากการตรวจวิเคราะห์ของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าโปรตีนเกษตรมีโปรตีนสูงถึง 49.47% มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วนโดยเฉพาะ ไลซีน ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต ซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย และยังให้คาร์โบไฮเดรต 37.20% ไขมัน 0.26% ไฟเบอร์ 1.10% นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โพแทสเซียม (K) ฟอสฟอรัส (P) แคลเซียม (Ca) เหล็ก (Fe) โซเดียม (Na) และวิตามินบี (Vitamin B) คุณภาพโปรตีนที่ได้จากโปรตีนเกษตรนี้มีค่าอัตราส่วนของประสิทธิภาพโปรตีน (Protein efficiency ratio : PER) ซึ่งเป็นอัตราส่วนของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นต่อปริมาณของโปรตีนที่สัตว์ทดลองได้รับขณะที่กำลังเจริญเติบโต เมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนมาตรฐาน โดยค่า PER ของโปรตีนเกษตรมีค่าใกล้เคียงกับเคซีนซึ่งเป็นโปรตีนที่พบได้ส่วนใหญ่ในน้ำนมวัว

แม้ว่าโปรตีนเกษตรจะสามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ แต่ไม่ควรบริโภคเกิน 100 - 150 กรัม ต่อวันเพราะโปรตีนเกษตรไม่ได้มีโปรตีนเพียงอย่างเดียว ยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่ให้พลังงาน เช่น คาร์โบไฮเดรต ที่มีกากใยอาหาร ที่ให้พลังงาน 366 กิโลแคลอรี่ต่อ 100 กรัม และยังมีปริมาณฟอสฟอรัสสูง อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไต นอกจากนี้การรับประทานโปรตีนเกษตรมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินจำเป็น และนำไปสู่ภาวะโรคอ้วนได้

 

ที่มาข้อมูล :
1. ทำความรู้จักโปรตีนเกษตร [2017], แหล่งที่มา : https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/63040/-womhea-wom-fooveg-foocui-foo- [ 16 ตุลาคม 2563 ]
2. เทศกาลกินเจ ควรกินเจอย่างไร ไม่ให้ร่างกายขาดโปรตีน [2017], แหล่งที่มา : https://hd.co.th/vegetarian-no-protein-loss [16 ตุลาคม 2563]
3. โปรตีนเกษตรกับสุขภาพใจ [2017], แหล่งที่มา : http://www.thaiheartfound.org/category/details/food/274 [16 ตุลาคม 2563]
คำค้น : โปรตีนเกษตร, แหล่งโปรตีน

ผู้เขียน : นางสาวทิพย์อัมพร เอี่ยมสอาด สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม ผู้อำนวยการกองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน