ยุง เป็นพาหะของโรคร้าย เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย เท้าช้าง และไข้สมองอักเสบ โดยยุงตัวเมียเท่านั้นที่ดูดเลือดกินเป็นอาหาร เนื่องจากมันต้องอาศัยโปรตีนและธาตุเหล็กที่อยู่ในเลือดเพื่อสร้างไข่ของมัน แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมบางคนถึงได้ถูกยุงกัดมากกว่าคนอื่น มีปัจจัยมากมายที่พอจะสันนิษฐานได้ว่า ทำไมบางคนจึงโดนยุงกัดมากกว่าคนอื่น เช่น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางลมหายใจ อุณหภูมิของร่างกาย หรือกลิ่นตัวเฉพาะ โดยยุงมีตัวรับสัญญาณเคมี (Chemical Sensors) ที่สามารถตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ และกรดแลคติกได้ในระยะไกลถึง 100 ฟุต (36 เมตร) หลังจากที่มันจับสัญญาณได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ใกล้เคียง มันก็จะอาศัยอวัยวะรับกลิ่นที่เรียกว่า Maxillary palps นำทางไปยังเหยื่อทันที ดังนั้นผู้ที่หายใจเร็วและแรง จะมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายมากกว่าคนที่หายใจปกติ จึงมีแนวโน้มที่ยุงจะไปกัดคนนั้นมากกว่า นอกจากนี้ ยุงยังสามารถตรวจจับปริมาณความร้อนในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ได้ ดังนั้นคนที่มีการเผาผลาญในร่างกายสูง เนื่องจากสารคัดหลั่งจากเหงื่อ เช่น กรดแลกติก ยูริก และแอมโมเนีย อุณหภูมิบริเวณผิวหนังก็จะสูงด้วย ก็จะมีโอกาสโดนยุงกัดได้มากกว่า สุดท้าย ยุงจะเห็นสีเข้ม เช่น สีดำ น้ำเงิน ได้ชัดเจนกว่าสีอ่อน ดังนั้นหากอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการโดนยุงกัด ก็ควรเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน เช่น ขาว เทา หรือฟ้า เพื่อพรางตัวไม่ให้ยุงมากัด เป็นการพรางตัวอย่างง่าย ๆ วิธีหนึ่ง
ภาพจาก :
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/little-asian-girl-has-allergies-mosquitoes-1105211207?src=e2XCLfJaT0pElhTe5l8N1A-1-2&studio=1 (Stock Photo ID : 1105211207)
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/image-anatomy-mosquito-752827747?src=uVSYFDSKEYSu14j0zVWw6g-1-89&studio=1 (Stock Photo ID : 752827747)
ที่มาข้อมูล :
http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-general/safety/454-%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%87.html
https://www.mtec.or.th/post-knowledges/26693/
คำค้น : ยุง, ตัวรับสัญญาณเคมี (Chemical sensors), Maxillary palps
ผู้เขียน : นายชนินทร์ สาริกภูติ
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม
ผู้อนุมัติเผพแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง (ผอ.วว.)