โควิดกินปอด:การเกิดปอดอักเสบจากโควิด 19

โควิดกินปอด:การเกิดปอดอักเสบจากโควิด 19

03-12-2021

จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 หลายคนคงสงสัยหรือเคยได้ยินเรื่องของไวรัสกินปอดกันมาบ้าง วันนี้เราจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการติดเชื้อในปอดของไวรัสว่าเกิดขึ้นได้ยังไงมันกินปอดแบบไหนจะเหมือนปลวกแทะไม้แบบที่เค้าว่าหรือไม่

          ในความเป็นจริงแล้วอาการปอดอักเสบไม่ได้เกิดขึ้นจากไวรัสโควิด 19 เท่านั้น แต่อาจเกิดได้จากทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ และแบคทีเรียหลายชนิด อาการปอดอักเสบนอกจากจะเกิดจากไวรัสไปเติบโตเพิ่มจำนวนจนฆ่าเซลล์เจ้าบ้านแล้วนั้นยังเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของเราเองด้วย ตามปกติร่างกายของเรามีวิธีกำจัดเซลล์ที่ติดไวรัสโดยการฆ่าไวรัสไปพร้อมกับเซลล์ที่ติดเชื้อ

โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวจะหลั่งโปรตีนในกลุ่มไซโตไคน์ (Cytokine) เพื่อส่งสัญญาณให้เซลล์ที่ติดเชื้อเกิดการทำลายตัวเอง (Apoptosis) และยังส่งผลให้บริเวณเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อมีการอักเสบบวมแดงและมีการคั่งของน้ำเหลือง ซึ่งตามปกติกลไกดังกล่าวช่วยนำเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามายังบริเวณที่ติดเชื้อ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้ง่ายและรุนแรง เพราะไวรัสโควิด 19

มี Spike protein (S protein) ที่ช่วยยึดเกาะกับเซลล์เจ้าบ้านได้ง่าย แล้วยังมีเซลล์เอพีเทอเรียล (Epithelial cell) ในระบบทางเดินหายใจและถุงลมที่มีโปรตีน ACE2 (Angiotensin-Converting Enzyme 2) ที่สามารถจับกับ Spike protein (S protein) ของโควิดบนผิวเซลล์เป็นจำนวนมาก ทำให้ไวรัสแพร่กระจายในปอดและถุงลมได้อย่างรวดเร็ว หากเซลล์ไหนติดเชื้อก็จะโดนทำลายเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม แต่ระบบภูมิคุ้มกันของเราก็ยังเร็วไม่เท่าไวรัสที่แพร่ติดเซลล์ข้างเคียงไปเสียแล้ว เนื้อเยื่อในปอดจึงถูกทำลายเป็นวงกว้างทั้งจากไวรัสและระบบภูมิคุ้มกันของเจ้าบ้านเอง การอักเสบยังทำให้เกิดการหลั่งของเหลวออกมาจำนวนมากจนไปขัดขวางการรับ ออกซิเจนในถุงลมจนเกิดอาการระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันในที่สุด

          จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้นไม่ได้กัดกินปอดของเราโดยตรง แต่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับปอดจนเกิดภาวะอาการปอดอักเสบและระบบหายใจล้มเหลวฉับพลัน เพราะฉะนั้นทุกคนอย่าลืมสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกไปในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ บ่อย ๆ ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 และรักษาสุขภาพร่างกายกันด้วยนะคะ

เกร็ดวิทย์

Spike protein (S protein) จับกับ ACE2 นำไวรัสเข้าสู่เซลล์

pneumonia

การเกิดน้ำท่วมปอดจากปอดอักเสบ

 

ผู้เขียน: นางสาวภัทราพร แสนเทพ

ที่มาของรูปภาพ:

https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/pneumonia

https://theconversation.com/what-is-the-ace2-receptor-how-is-it-connected-to-coronavirus-and-why-might-it-be-key-to-treating-covid-19-the-experts-explain-136928#:~:text=ACE2%20acts%20as%20the%20receptor,regulate%20functions%20in%20the%20cell.

ที่มาของแหล่งข้อมูล:

Panagis Galiatsatos, M.D., M.H.S. Johns Hopkins Medicine. What Coronavirus Does to the Lungs. [ออนไลน์]. 13 เมษายน 2020, แหล่งที่มา:

https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/coronavirus/what-coronavirus-does-to-the-lungs [12 มกราคม 2564]

NIH National Heart, Lung, and Blood Institute. Pneumonia. [ออนไลน์]. 2019, แหล่งที่มา:

https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/pneumonia [12 มกราคม 2564]

The conversation. What is the ACE2 receptor, how is it connected to coronavirus and why might it be key to treating COVID-19? The experts explain. [ออนไลน์]. 14 พฤษภาคม 2020, แหล่งที่มา:

https://theconversation.com/what-is-the-ace2-receptor-how-is-it-connected-to-coronavirus-and-why-might-it-be-key-to-treating-covid-19-the-experts-explain-136928#:~:text=ACE2%20acts%20as%20the%20receptor,regulate%20functions%20in%20the%20cell. [12 มกราคม 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน