ที่มา ; https://pantip.com/topic/35158449
เริ่มต้นโดยหาถังพลาสติกพร้อมฝาปิดขนาดตามความต้องการ โดยเจาะรูรอบถังเพื่อใช้เป็นช่องระบายอากาศ และอาจจะพันด้วยตาข่ายหรือตาข่ายไนล่อนสีฟ้าเพื่อป้องกันแมลงวันมาวางไข่ ใส่เศษอาหาร มูลสัตว์ และเศษใบไม้ อย่างละ 1 ส่วนลงในถัง ผสมคลุกเคล้าให้ทั่วแล้วปิดฝา หากวันถัดไปมีเศษอาหารอีกก็ผสมมูลสัตว์และเศษใบไม้ในอัตราส่วนเดิมใส่ลงในถังแล้วใช้ไม้คนส่วนผสมให้คลุกเคล้ากันทุกวัน เช้า-เย็น ในช่วงสัปดาห์แรกอาจมีความร้อนและมีกลิ่นเหม็นเน่าเกิดขึ้น เราสามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นได้โดยเติมน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ เนื่องจากการเกิดกลิ่นเหม็นมีสาเหตุมาจากมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ตายเน่ามากกว่าเชื้อที่ดี การเติมอาหารให้แก่จุลินทรีย์จะช่วยเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีให้มากขึ้นจึงลดการเกิดกลิ่นได้ สำหรับความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากจุลินทรีย์คายความร้อนออกมาเพื่อทำปฏิกิริยาย่อยสลาย หากความชื้นในถังหมักลดลงเกือบแห้ง ควรพรมน้ำเพิ่ม ใช้เวลาประมาณ 30 วัน จะได้ปุ๋ยหมักในปริมาตรที่ลดลงร้อยละ 40 หากปุ๋ยยังมีความชื้นอยู่ ควรงดพรมน้ำและปล่อยให้แห้งสนิท เพื่อให้จุลินทรีย์หยุดการย่อยสลาย
สุดท้ายเราจะได้ปุ๋ยหมักที่มีสีดำคล้ำ เปื่อยยุ่ย มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา และไม่มีกลิ่นเหม็น พร้อมที่จะนำมาใช้ใส่ต้นไม้ อย่างไรก็ตามถึงเราจะรู้ว่ามีวิธีกำจัดมันอย่างไรเมื่อกินเหลือแล้ว แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การกินให้หมด ไม่เหลือทิ้ง วางแผนการกินจะช่วยลดขยะ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste agriculture) ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เกิดความตระหนักและร่วมมือกัน เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของทุกคน
เอกสารอ้างอิง: ภาคภูมิ ดาราพงษ์. 2556. Zero waste agriculture คืออะไร ทำได้ไหมบนพื้นที่สูง?
อังกาบดอย สำนักพิมพ์บ้านและสวน. 2564. ขั้นตอนทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารต่าง ๆ ช่วยลดขยะในบ้าน
แหล่งที่มา: https://www.baanlaesuan.com/144482/garden-farm/farming-step-by-step/organic-fertilizer