นาฬิกาปลุก เป็นตัวช่วยให้ใครหลายคนตื่นนอนในช่วงเช้า ปัจจุบันเราสามารถลือกเสียงนาฬิกาปลุกได้หลายแบบ ทั้งเสียงเตือนแบบนาฬิกาดั้งเดิม เสียงไก่ขัน รวมไปถึงเสียงเพลงที่มีจังหวะต่าง ๆ ที่สามารถเลือกใช้งานได้ ตามความชื่นชอบของแต่ละคน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าเสียงของนาฬิกาปลุกนั้นมีผลต่อสมองของมนุษย์เราด้วย
โดยปกติแล้ว ร่างกายของเราจะผลิตสารเคมีที่เรียกว่า ฮอร์โมน (Hormone) จากต่อมไร้ท่อ เพื่อกระตุ้นกระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย สำหรับกลไกการนอนหลับถูกควบคุมโดยฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งผลิตออกมาในภาวะที่มีแสงน้อย หรือไม่มีแสง ทำให้เรารู้สึกง่วงนอน และในช่วงเช้าจะค่อย ๆ ลดลงจนหมดไป และจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) แทน เพื่อช่วยให้เราตื่นนอน กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว และนำสารอาหารทั้งไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีนมาผลิตพลังงาน
ดร.โรเบิร์ด เอส โรเซ็นต์เบิร์ก (Dr. Robert S. Rosenberg) ผู้อำนวยการแพทย์ ศูนย์ความผิดปกติด้านการนอนหลับแห่งรัฐแอริโซนา (The Medical Director of the Sleep Disorders Center of Prescott Valley, Arizona.) ได้อธิบายในหนังสือที่ชื่อ Sleep Soundly Every Night, Feel Fantastic Every Day ว่าการตื่นนอนจากการหลับลึกในทันทีด้วยเสียงนาฬิกาปลุก ทำให้เกิดอาการมึนงงตลอดทั้งวัน ทั้งยังส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของสมอง หรือความจำลดลงอีกด้วย
จากการศึกษา ยังพบว่าโทนเสียงของนาฬิกาปลุกที่แตกต่างกัน ก็มีผลต่อร่างกายของเราเช่นกัน โดยนักวิจัยทดลองให้อาสาสมัครจำนวน 50 คน ตั้งนาฬิกาปลุกในโทนเสียงที่แตกต่างกันตามความชื่นชอบของแต่ละคน และพบว่าเสียงนาฬิกาปลุกที่มีความนุ่มนวล ไพเราะ ช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว และลดอาการมึนงงได้ดี มากกว่ากว่าเสียงนาฬิกาปลุกแบบแหลมสูง แสบแก้วหู
ผลการศึกษานี้ ไม่เพียงอธิบายผลของการตื่นอย่างทันทีทันใดจากเสียงนาฬิกาปลุกเท่านั้น แต่การตั้งนาฬิกาปลุกเป็นระยะ ๆ หรือการเลื่อนนาฬิกาปลุกเพื่อยืดเวลานอนหลับออกไปเพียงไม่กี่นาทีนั้น รบกวนวงจรการนอนของร่างกาย ไม่ทำให้เราง่วงน้อยลง หรือตื่นนอนอย่างสดชื่นมากขึ้น แต่ยังส่งผลเสียต่ออารมณ์ ความรู้สึก และประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายอีกด้วย ดังนั้นเราจึงควรนอนหลับให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ปรับเสียงนาฬิกาปลุกไม่ให้ไม่ดังมาก และมีน้ำเสียงที่นุ่มนวล เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีในระยะยาว
เรียบเรียงโดย: มณีพลอย มาธรรม อาสาสมัคร กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
Link ที่เกี่ยวข้อง:
รู้หรือไม่? เลื่อนนาฬิกาปลุกในตอนเช้าไม่ดีต่อสุขภาพ ?. [ออนไลน์]. 15 กุมภาพันธ์ 2021. แหล่งที่มา:
https://www.vichaiyut.com/th/health/informations/question-healthy-alarm-clock/ [27 กุมภาพันธ์ 2566]
อยาก รักษาความจำ โปรดหยุดพฤติกรรม ! การเลื่อนนาฬิกาปลุก.[ออนไลน์]. 11 พฤษพาคม 2020.แหล่งที่มา: https://hellokhunmor.com/ [27 กุมภาพันธ์ 2566]
Sleep Disorders Center of Prescott Valley, LLC. [ออนไลน์]. 2023. แหล่งที่มา: https://www.pvsleep.com/our-staff/ [27 กุมภาพันธ์ 2566]