ภาพโดย Kristine Wook บน Unsplash
ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ในเด็กส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง หรือไม่แสดงอาการ แต่ก็มีรายงานในสหรัฐอเมริกาว่าเด็กที่ติดเชื้อ 1 คนในเด็ก 1000 คน มีภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือ MIS-C) เช่น เป็นไข้ ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย เป็นผื่น รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท เส้นเลือด และหัวใจ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันอย่างทันท่วงที วารสารภูมิคุ้มกัน (Immunity) ได้เผยแพร่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจเป็นสาเหตุให้เด็กที่เป็นโรคโควิด-19 บางส่วนเสียชีวิต
การเก็บตัวอย่างเลือดของกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะ MIS-C เพื่อเปรียบเทียบกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภาวะ MIS-C ทั้งที่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการรุนแรง พบว่าโมเลกุลอะลามิน (Alarmin) ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด หรือภูมิคุ้มกันชนิดไม่จำเพาะ ซึ่งจะเข้าจู่โจมสิ่งแปลกปลอม ระหว่างที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง ซึ่งเด็กที่มีภาวะ MIS-C จะมีอะลามินสูง ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อในร่างกายแทนที่จะเข้าจู่โจมสิ่งแปลกปลอม และเชื้อโรค
นอกจากนี้ยังพบว่าระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดของกลุ่มเด็กอาจทำงานดีกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ จึงเป็นเหตุให้เด็กส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ไม่มีอาการรุนแรง แต่ในกรณีกลุ่มเด็กที่มีภาวะ MIS-C ระบบภูมิคุ้มกันกลับตอบสนองรุนแรงจนทำร้ายกระทั่งตัวเอง แต่หากสามารถตรวจจับสัญญานการทำงานของระบบภูมิกันได้อย่างทันท่วงที ก็อาจช่วยรักษา และลดการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อในเด็กได้
เรียบเรียงโดย: นุชจริม เย็นทรวง กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช
แหล่งที่มา :
“Health Department-Reported Cases of Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) in the United States” [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://www.cdc.gov/mis-c/cases/index.html [20 พฤษภาคม 2564]
“Rare COVID-19 response in children explained” [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มาhttps://news.yale.edu/2021/05/14/rare-covid-19-response-children-explained [20 พฤษภาคม 2564]
“Immune dysregulation and autoreactivity correlate with disease severity in SARS-CoV-2-associated multisystem inflammatory syndrome in children” [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มาhttps://www.cell.com/immunity/fulltext/S1074-7613(21)00165-5 [20 พฤษภาคม 2564]