ดูอย่างไร ข่าวใหนเป็น Fake News

ดูอย่างไร ข่าวใหนเป็น Fake News

05-11-2021
ดูอย่างไร ข่าวใหนเป็น Fake News

 ปัจจุบันเราสามารถรับข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางอินเทอร์เน็ต ทำให้สะดวกรวดเร็วในการรับและส่งข่าวสารต่อ ๆ กัน ทำให้เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ประสงค์ร้ายในการโน้มน้าวชักจูง หรือโฆษณาชวนเชื่อ โดยการสร้างเนื้อหาโจมตีฝ่ายตรงข้าม สร้างความแตกแยกชิงชัง จนเกิดความเข้าใจผิด หรือให้ความรู้ที่บิดเบือน เรียกว่า Fake News ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากลักษณะของข่าวปลอม หรือข่าวเท็จมีมานาน อาจจะมาพร้อมกับยุคที่เริ่มมีการสื่อสารเลยก็ว่าได้ แค่ปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบมาอยู่ในโลกออนไลน์นั่นเอง ข้อแนะนำในการสังเกตข่าวปลอมออนไลน์

     1. พิจารณาความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ที่เผยแพร่ หากพบเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่มีเพียงไม่กี่หน้า ไม่ระบุที่อยู่หรือข้อมูลสำหรับติดต่อผู้เขียน ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ถูกสร้างเพื่อเผยแพร่ข่าวปลอม
     2. ตรวจสอบว่ามีเว็บไซต์หรือแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากมีเพียงแหล่งข่าวเดียว ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ
     3. สังเกตรูปภาพ โดยการนำรูปภาพนั้นไปค้นหาจากเว็บไซต์สำหรับค้นหารูปภาพ เช่น TinEye , Google Reverse ImageSearch เพื่อรู้ที่มาของรูปภาพ ความน่าเชื่อถือ หรือความเกี่ยวข้องกับข่าวที่อ่าน
     4. ตรวจสอบโดยการนำชื่อข่าว หรือเนื้อความในข่าวมาค้นหา ซึ่งจากผลลัพธ์การค้นหาผู้ใช้อาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หรือดูวันที่เผยแพร่ข่าว อาจพบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ถูกเผยแพร่ในอดีต
    5. อาจพิจารณาขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นเพื่อประกอบการพิจารณา โดยการสอบถามบนเว็บบอร์ดหรือติดต่อสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบ

เกร็ดวิทย์

     การที่จะแยกว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอมถือเป็นเรื่องยาก ผู้ใช้สื่อออนไลน์จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้รอบด้าน เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ จากผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากข่าวนั้น ๆ

     ผู้ที่ผลิตข่าวเท็จ บิดเบือน และเผยแพร่บนโซเชียลยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ว่าด้วยการนำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ก็ถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้นและมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เกร็ดวิทย์

 

 

ที่มารูปภาพ:

[1] https://towardsdatascience.com/fake-news-classification-with-bert-afbeee601f41
[2] https://www.impactbnd.com/blog/facebook-and-instagram-starting-to-identify-and-label-fake-news-before-it-goes-viral

ข้อมูลอ้างอิง:

[1] Fake News ลวงให้เชื่อ หลอกให้[อินเทอร์เน็ต]2563. (เข้าถึงเมื่อ 14 มกราคม 2563) เข้าได้จาก: https://www.etda.or.th/content/living-in-the-fake-news-era.html?fbclid=IwAR2w0d0m705WGcvTCspNfrRYTiJWDK_N9VffOKBt_MGJGlR18jdRiRozkZ0
[2] รู้จักกับ Fake News ทั้ง 7 รูปแบบที่เราเจอกันทุกวันบน Facebook, Twitter[อินเทอร์เน็ต]2561. (เข้าถึงเมื่อ 14 มกราคม 2563) เข้าได้จาก: https://www.rainmaker.in.th/7-type-of-fake-news/
[3] Fake News ข่าวปลอม ปัญหาใหญ่ของโลกอินเทอร์เน็ต[อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงเมื่อ 14 มกราคม 2563) เข้าได้จาก: http://www.okmd.tv/blogs/all-things-digital/fake-news-%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82#firstPage
[4] ข่าวปลอม (Fake News) ออนไลน์สังเกตยังไง? ก่อนเชื่อและแชร์[อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงเมื่อ 14 มกราคม 2563) เข้าได้จาก: https://www.facebook.com/ETDA.Thailand/posts/1847136568633244/
[5] เว็บไซต์สำหรับค้นหารูปภาพ[อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงเมื่อ 14 มกราคม 2563) เข้าได้จาก: https://tineye.com/
[6] เว็บไซต์สำหรับค้นหารูปภาพ[อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงเมื่อ 14 มกราคม 2563) เข้าได้จาก: https://images.google.com/

ผู้เขียน: นางสาววรรณวจี สุจริตธรรม นักวิชาการ
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 

ข่าวสารที่่คล้ายกัน