แคดเมียม (Cadmium, สัญลักษณ์ Cd) จัดเป็นธาตุกลุ่มโลหะที่มีความถ่วงจำเพาะสูงกว่าน้ำถึง 5 เท่า หรือที่เรียกว่า โลหะหนัก (Heavy Metal) มีความหนาแน่นมาก มีลักษณะเป็นของแข็ง เนื้ออ่อน สีขาวอมฟ้า มีความแวววาว มักพบอยู่รวมกับแร่สังกะสี ตะกั่ว และทองแดง จึงเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่กล่าวถึงในข้างต้น และมักพบแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ และอากาศในบริเวณใกล้เคียงกับเหมืองเช่นกัน
แคดเมียมถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1817 โดยนักเคมีชาวเยอรมันชื่อ ฟรีดริช สโตรมีเยอร์ (Friedrich Stromeyer) ได้สังเกตเห็นแสงสีเหลืองที่ไม่ควรเกิดขึ้นขณะที่กำลังให้ความร้อนกับแร่สีชมพูที่ชื่อว่า คาลาไมน์ (Calamine) ซึ่งประกอบด้วยสังกะสีออกไซด์และธาตุอื่น ๆ อีกเล็กน้อย เป็นส่วนผมสำคัญในตำรับยาทาบรรเทาอาการคันอ่อน ๆ ที่ผิวหนัง จึงอนุมานว่าในแร่คาลาไมน์นี้น่าจะมีธาตุโลหะปนเปื้อนอยู่ และเมื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมจึงพบธาตุโลหะชนิดใหม่ นั่นคือ แคดเมียม มาจากคำว่า Kadmeia ในภาษากรีก ที่แปลว่า คาลาไมน์
ในปัจจุบันมีการนำแคดเมียมมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น ฉาบหรือเคลือบผิวโลหะเพื่อให้เกิดความเงางาม ทนทาน ช่วยเพิ่มความคงตัวให้พลาสติกชนิดพอลิไวนิลคลอไรด์ หรือพีวีซี (Polyvinyl Chloride หรือ PVC) ใช้ในการผลิตสีสำหรับสิ่งปลูกสร้าง และแบตเตอรี่ขนาดเล็ก เป็นต้น
มนุษย์สามารถรับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ และการรับประทานผ่านอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อน หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร ไอ เจ็บปวดทรวงอก หายใจลำบาก เป็นไข้ หนาวสั่น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้ปอด ตับ และไตถูกทำลาย ระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด หากได้รับแคดเมียมในปริมาณไม่สูงมาก แคดเมียมจะเข้าสู่กระแสเลือด สะสมตามกระดูก เนื้อเยื่อปอด ตับ และไต ได้นาน 20-30 ปี ส่งผลให้เกิดวงสีเหลืองบนฟัน สูญเสียการได้กลิ่น กระดูกผุ เป็นนิ่ว ไตวาย ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
ในประเทศญี่ปุ่นเคยมีรายงานของกลุ่มอาการตามที่กล่าวมาในข้างต้นซึ่งเกิดจากการได้รับพิษของแคดเมียมที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล สะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า โรคอิไต อิไต (Itai-Itai Disease) มาจากคำว่า อิไต ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า เจ็บ ทั้งนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมอธิบายว่าการได้รับแคดเมียมทางการหายใจเข้าไปสะสมในร่างกาย ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดอีกด้วย
เรียบเรียงโดย:
ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
อภิชญา นุชจิโน นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
แหล่งข้อมูล
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7312803/
https://www.atsdr.cdc.gov/csem/cadmium/Acute-Effects.html
https://www.cdc.gov/biomonitoring/Cadmium_FactSheet.html
https://www.osha.gov/cadmium/health-effects
https://pubs.usgs.gov/publication/70044900
https://mt.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/home/main/health-brochure/2019/pdf/18.pdf
https://www.sciencedirect.com/topics/veterinary-science-and-veterinary-medicine/itai-itai-disease
https://www.gpoplanet.com/th/blog/15700/blog-15700
http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=77
เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2567