นุชจริม เย็นทรวง กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ต้นธันวาคม 2563 ที่ประเทศอังกฤษ มีรายงานภาวะแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ในผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) และ บริษัท ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ต่อมาในวันที่ 6 มกราคม 2564 สหรัฐอเมริกาเริ่มให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 1.9 ล้านโดส และพบว่าผู้รับวัคซีนจำนวน 21 ราย มีอาการแพ้อย่างรุนแรง และเพิ่มขึ้น เป็น 29 ราย คิดเป็นอันตราส่วน 11.1 ราย ต่อ 1 ล้านโดส ซึ่งหมายถึง ในวัคซีน 1 ล้านโดส จะมีผู้มีอาการแพ้ 11 คน อัตราส่วนการแพ้นี้มีอัตราที่สูงกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีอัตราการแพ้เพียง 1.3 รายต่อ 1 ล้านโดส เมื่อคำนวณตามประชากรสหรัฐที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 จะพบว่าร้อยละ 99.998 ไม่มีการแพ้อย่างรุนแรง นับว่าเป็นอัตราการแพ้วัคซีนที่น้อยมาก
ในทางการแพทย์ ภาวะแพ้อย่างรุนแรงเป็นการตอบสนองทางร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) เช่น อาหาร ยา แมลงกัดต่อย สามารถเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และรุนแรงได้ ในเวลาเพียงไม่กี่นาที หรือการแพ้นั้นอาจใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมง ถึงจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น แน่นหน้าอก และระดับออกซิเจนลดลง เป็นต้น อาการดังกล่าวส่งผลต่อเยื่อบุต่าง ๆ และผิวหนัง ทำให้เกิดลมพิษขึ้นทั่วร่างกาย ปากบวม นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว รวมไปถึงระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีอาการแพ้เช่นนี้ จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยการให้ยาเอพิเนฟรีน (Epinephrine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาภาวะแพ้อย่างรุนแรงกรณีฉุกเฉิน
หัวหน้าทีมประเมินวัคซีนของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา ไม่แนะนำให้ฉีดโดสที่สอง หากมีภาวะแพ้จากวัคซีนในโดสแรก และผู้ที่ทราบว่าแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เช่น โพลิเอทิลีนไกลคอล (Polyethylene glycol หรือ PEG) สารคงตัวพบได้ในวัคซีนของ ไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ก็ไม่ควรรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้มีประวัติแพ้สารที่เรียกว่า โพลิซอร์เบท (Polysorbate) ซึ่งพบได้ในเครื่องสำอางบางชนิด ยา และผลิตภัณฑ์ในบ้าน ก็ไม่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เช่นกัน เนื่องจากสารโพลิซอร์เบท มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับโพลิเอทิลีนไกลคอล
สำหรับ วัคซีนของ แอสตรา เซเนกา (AstraZeneca) และบริษัท ซิโนแวค (Sinovac) ไม่มีส่วนประกอบของโพลิเอทิลีนไกลคอล และไม่มีรายงานการแพ้อย่างรุนแรง จึงอาจเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้โพลิเอทิลีนไกลคอล จากรายงานการแพ้ของสหรัฐอเมริกาชี้ว่าผู้ที่มีอาการแพ้ชนิดรุนแรง 17 คน มีประวัติแพ้สารก่อภูมิแพ้อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้มีการเตือนให้ศูนย์ฉีดวัคซีนเตรียมยารักษา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องไว้ และควรสังเกตอาการหลังการฉีดประมาณ 15 นาที สำหรับคนที่มีประวัติแพ้ และ 30 นาที สำหรับผู้ไม่มีประวัติการแพ้
ในอนาคตหากประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด 19 สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้คือ การสังเกตประวัติสุขภาพของตัวเอง สำรวจว่าตนเองมีภาวะภูมิแพ้ในลักษณะใด และแจ้งบุคลากรทางแพทย์ให้ทราบถึงภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ของตนเอง ก็จะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะการแพ้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้
ภาพจาก: Markus Spiske on Unsplash
ที่มาข้อมูล:
Severe allergic reactions to COVID-19 vaccines are extremely rare, CDC says. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://www.sciencenews.org/article/covid-19-coronavirus-vaccine-severe-allergic-reactions-extremely-rare-cdc [11 มกราคม 2564]
COVID-19 Vaccines and Allergic Reactions. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/safety/allergic-reaction.html [11 มกราคม 2564]
การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://meded.psu.ac.th/binlaApp/class05/388_551/Anaphylaxis/index.html [11 มกราคม 2564]
What the data show about allergic reactions to COVID-19. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา vaccineshttps://www.nationalgeographic.com/science/2021/01/what-data-show-allergic-reactions-covid-vaccines-cvd/ [11 มกราคม 2564]
No requirement to observe patients for 15 minutes after Oxford/AstraZeneca Covid vaccination. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://www.pulsetoday.co.uk/news/clinical-areas/allergy/no-requirement-to-observe-patients-for-15-minutes-after-oxfordastrazeneca-covid-vaccination/ [11 มกราคม 2564]