บุหรี่!! ยิ่งสูบ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโควิด 19

บุหรี่!! ยิ่งสูบ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโควิด 19

12-05-2022
ภาพจาก: https://www.shutterstock.com/th/image-photo/smoking-dangers-during-coronavirus-pandemic-concept-1700249020

เมื่อผู้สูบสูบบุหรี่จะได้รับสารนิโคตินและสารพิษต่าง ๆ ที่อยู่ในควันบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดตันเรื้อรัง (COPD) ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) โรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งแล้ว ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SAR-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 บุหรี่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทวีความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคเรื้อรังต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งผู้ที่สูบบุหรี่เองอีกด้วย เพราะผู้สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคโควิด 19 ได้มากขึ้น และมีอาการรุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การสูบบุหรี่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสู่บุคคลอื่นได้อีกด้วย เนื่องจากควันหรือละอองไอของบุหรี่นั้น ประกอบด้วย สารคัดหลั่ง น้ำลาย เสมหะ ที่เป็นตัวพาหะของเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลกว่า 1-2 เมตร นอกจากนี้ เชื้อไวรัสยังสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 นาที ดังนั้น หากผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้ออย่างรวดเร็ว โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะสูบบุหรี่ มือและนิ้วอาจมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ และเมื่อสัมผัสกับปากจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายและเกิดการติดเชื้อได้

อ. นพ.ธิตวัฒน์ ศรีประสาธน์ หน่วยอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติโรคระบบการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวว่า “การสูบบุหรี่ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด 19 ได้ผลน้อยลง ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 3 – 5 เท่า ในทางกลับกันผู้ที่หยุดสูบบุหรี่แล้ว จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ ยิ่งไปกว่านั้น การสูบบุหรี่ยังทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด 19 มากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 5 เท่า”

ดร.พญ. เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดเผยงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของอาการ “ลองโควิด (Long COVID)” หรือ อาการที่ยังคงหลงเหลือหลังจากติดเชื้อโควิด 19 ว่า “การสูบบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนที่ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มโอกาสที่จะเกิดอาการลองโควิด โดยอ้างอิงจาก งานวิจัยที่ทำการศึกษาที่ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Global Health เมื่อเดือนธันวาคม 2564 โดยทำการสำรวจผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 14,392 ราย เพื่อศึกษาติดตามอาการลองโควิดและหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พบว่า ในระยะเวลา 3 เดือน หลังติดเชื้อ มีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิดถึง 16.1% อาการลองโควิดที่พบ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หายใจลำบาก ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และแน่นหน้าอก โดยปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการลองโควิด คือ เพศหญิง อายุน้อย อาศัยในชนบท ภาวะทุพพลภาพ และสูบบุหรี่ ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยของประเทศอิตาลี ซึ่งผลสำรวจพบว่า เพศหญิงและการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะลองโควิด” และจากงานวิจัยใหม่โดยทีมวิจัยจากอิตาลี ยังพบว่า “การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ผลน้อยลง โดยทำการศึกษาวิจัยตรวจระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่อเชื้อไวรัสโรคโควิด 19 (Anti SARS-CoV-2 antibodies) ภายหลังจากได้รับวัคซีนประเภท COVID-19 mRNA ของ Pfizer/BioNTech ครบ 2 เข็ม ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 86 คน ผลการศึกษาพบว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 1,099 U/ml ในขณะที่ คนที่ไม่สูบบุหรี่จะอยู่ที่ระดับ 1,921 U/ml หรืออาจจะกล่าวได้ว่า คนที่สูบบุหรี่หลังจากได้รับวัคซีนแล้วระดับภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโรคโควิด 19 จะขึ้นต่ำกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 40%”

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การสูบบุหรี่นับเป็นอันตรายอย่างยิ่งทั้งต่อผู้สูบและบุคคลรอบข้าง ดังนั้น เราจึงควรงดการสูบบุหรี่โดยเฉพาะในที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคที่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และยังเป็นอีกหนทางหนึ่งในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคโควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ รวมถึงทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ได้อย่างเต็มที่เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนอีกด้วย

 

 

ภาพจาก: https://www.shutterstock.com/th/image-photo/smoking-dangers-during-coronavirus-pandemic-concept-1700249020

เรียบเรียงโดย: ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ที่มาข้อมูล:

Prevalence of Long COVID symptoms in Bangladesh: a prospective Inception Cohort Study of COVID-19 survivors. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34906986/ [11 พฤษภาคม 2565]

Female gender is associated with long COVID syndrome: a prospective cohort study. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34763058/ [11 พฤษภาคม 2565]

จริงหรือไม่ บุหรี่.. ตัวการ ทำ ภูมิคุ้มกันโควิด-19 ต่ำ ?. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%81/ [11 พฤษภาคม 2565]

พ่นควัน บุหรี่ … ก็แพร่ COVID-19. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา : https://www.vejthani.com/th/2020/04/%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88/ [11 พฤษภาคม 2565]

เตือน “สูบบุหรี่” เพิ่มโอกาสเสี่ยงเสี่ยง “ลองโควิด” 16%. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา : https://mgronline.com/qol/detail/9650000023041 [11 พฤษภาคม 2565]

อย่าคิดว่าไม่เป็นไร! ‘สูบบุหรี่’กับโควิด ส่งผลกว่าที่คิด!. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา : https://www.dailynews.co.th/articles/1003773/ [11 พฤษภาคม 2565]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน