แอลกอฮอล์ที่เป็นส่วนผสมในเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มมึนเมาประเภทต่าง ๆ นั้นคือ แอลกอฮอล์ประเภท เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) หรือที่เรียกกันว่า เอทานอล ซึ่งเกิดจากกระบวนการหมักผลิตผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด องุ่น ฯลฯ กับยีสต์ จัดเป็นแอลกอฮอล์ที่บริโภคได้ ต่างจากเมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol) หรือเมทานอล ที่เป็นผลิตผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกาย แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานของสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก ทำให้ผู้ที่ดื่มมีบุคลิกและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงความสามารถในการประมวลผลและการตัดสินใจยังลดลงจากเดิมอีกด้วย จากนั้น แอลกอฮอล์ จะไปออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนกลาง (Midbrain) ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายช้าลง และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังส่งผลต่อสมองส่วน ซีรีเบลลัม (Cerebellum) เป็นส่วนที่ควบคุมการทรงตัวของร่างกาย เมื่อแอลกอฮอล์ในเลือดมีปริมาณสูงมาก ๆ และเข้าสู่สมองส่วนนี้ จะทำให้ระบบกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ และอาเจียน รวมถึงสูญเสียการทรงตัว ทำให้การยืนและการเดินไม่มั่นคง หรือเกิดอาการเมา นั่นเอง
ภาพจาก :
https://asklistenlearn.org/materials/scholastic-lesson-alcohol-brain/
ที่มาข้อมูล :
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/67218/-blo-scihea-sci-
http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-general/cigarettes/521-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87.html
คำค้น : เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol), สมองส่วนหน้า (Frontal lobe), ซีรีเบลลัม (Cerebellum)
ผู้เขียน : นายชนินทร์ สาริกภูติ
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง (ผอ.วว.)