เขียงไม้…ทำจากไม้อะไร และใช้อย่างไรไม่ให้ขึ้นรา

เขียงไม้…ทำจากไม้อะไร และใช้อย่างไรไม่ให้ขึ้นรา

02-12-2021
เขียงไม้…ทำจากไม้อะไร และใช้อย่างไรไม่ให้ขึ้นรา

เขียง อุปกรณ์คู่ครัวไทยที่มีมาอย่างยาวนาน นับเป็นภูมิปัญญาไทยที่นำไม้มาสรรสร้างเป็นของใช้ในครัวเรือน โดยทั่วไปแล้ว เขียงทำจากไม้มะขาม ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งสีน้ำตาลอ่อน แข็งแรง ทนทาน เหมาะแก่การสับหรือหั่น ที่สำคัญคือเนื้อไม้มีความสะอาด ไม่มีกลิ่นหรือรสติดไปกับวัตถุดิบ ทำให้รสชาติของอาหารที่ผ่านเขียงไม้มะขามไม่ผิดเพี้ยนไป นอกจากนี้ คุณสมบัติที่มีเนื้อแข็ง ทำให้เวลาสับหรือหั่น จะไม่มีเศษไม้ติดปะปนมากับอาหาร แต่เมื่อใช้งานไปนาน ๆ เขียงไม้อาจมีคราบดำ ซึ่งก็คือคราบเชื้อรานั่นเอง และเขียงยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคชนิดอื่นได้อีกด้วย วิธีป้องกันการเกิดคราบเชื้อราเหล่านี้ สามารถทำได้โดยการนำเขียงไม้ไปแช่ในน้ำเกลือ ซึ่งอาศัยหลักการออสโมซิส (Osmosis) ที่ทำให้โมเลกุลของน้ำจากสปอร์เชื้อรา ที่อาจฝังตัวอยู่ในเนื้อไม้ เคลื่อนที่จากภายในเซลล์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำมาก ไปยังบริเวณที่มีน้ำน้อย ทำให้เซลล์ของเชื้อราเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) และตายไปในที่สุด ดังนั้น ก่อนการใช้งานเขียงใหม่ เราควรกำจัดเชื้อราโดยการแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ 2-3 วัน จากนั้นจึงล้างออกให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี และยืดระยะเวลาการใช้งานเขียงไม้ให้ยาวนาน

 

ที่มาข้อมูล :
1. เขียงไม้ อาวุธไม่ลับประจำครัว กับคุณค่าที่มากกว่าการเป็นฐานรองหั่น-สับ-ซอย. [ออนไลน์]. 2018, แหล่งที่มา :
https://themomentum.co/cutting-board-kitchenpedia/ [20 กรกฎาคม 2563]
2. Does Salt Kill Mold?. [ออนไลน์], แหล่งที่มา :
https://www.hunker.com/13415954/does-salt-kill-mold?fbclid=IwAR0wkdlGoAMgADD79 Mlj6_dkcabA5H38JMkIw9iE_BvE-G6-BPnIym6odxQ [20 กรกฎาคม 2563]
คำค้น : เขียง, ไม้มะขาม, เชื้อรา, น้ำเกลือ, หลักการออสโมซิส (Osmosis), ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

ผู้เขียน : นางสาวชญานุช เรืองจันทร์ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน