นักวิจัยทั่วโลกต่างเร่งพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SAR-CoV-2) โดยมุ่งหวังเพื่อก้าวข้ามวิกฤตการแพร่ระบาดให้ได้ในเร็ววัน ปัจจุบันไทยกำลังวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 มากกว่า 20 ชนิด แต่มี 4 ชนิด ที่มีความคืบหน้า จนสามารถผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลอง และกำลังเริ่มทดสอบในมนุษย์แล้ว
- วัคซีน Chula-Cov19 เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA vaccine) ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับแพทย์นักวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลก คือ ศ.ดรู ไวส์แมน (Prof. Drew Weissman) มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สามารถสังคราะห์และผลิตได้อย่างรวดเร็ว เก็บรักษาได้ง่ายกว่าวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA อื่น ๆ โดยสามารถเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ จากผลการทดลองระยะที่ 1 พบว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 94% และยับยั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ได้เกิน 80% อีกทั้ง ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด T-Cell ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้อีกด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 คาดว่าเริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564
- วัคซีน HXP-GPO Vac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายไวรัสเวกเตอร์ ผลิตจากนวัตกรรมเชื้อตายชนิดลูกผสม (Inactivated chimeric vaccine) โดยใช้ไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle disease virus, NDV) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในไก่ มาตัดแต่งพันธุกรรมให้มีการแสดงออกของโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ถูกปรับแต่งด้วยเทคโนโลยีเฮกซะโปร (HexaPro) ให้มีความคงตัวมากขึ้น มาใช้ในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคโควิด 19 จากนั้นจึงนำไปเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ เมื่อเชื้อมีการเพิ่มจำนวนมากพอตามที่ต้องการจึงทำให้เชื้อตาย จัดเป็นเทคโนโลยีเดียวกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และ องค์การเภสัชกรรม ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กร PATH ที่ได้ส่งมอบหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบซึ่งพัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (The Icahn School of Medicine at Mount Sinai) และมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา จากผลการทดลองระยะที่ 1 พบว่า มีความปลอดภัยสูง สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและยับยั้งเชื้อทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) และสายพันธุ์เดลต้าได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 และกำลังจะทดสอบในระยะที่ 3 เพื่อเปรียบเทียบภูมิคุ้มกันกับวัคซีนชนิดอื่น และศึกษาประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 VAX1 เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตโมเลกุลโปรตีนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 จากใบยาสูบสายพันธุ์พื้นเมืองจากออสเตรเลีย ที่ทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตโปรตีนที่คล้ายกับชิ้นส่วนโครงสร้างของไวรัส โดยอาศัยแบคทีเรียพาหะเป็นตัวนำพาสารพันธุกรรมของไวรัส ปลูกถ่ายลงในเซลล์ของใบยาสูบ ทำให้พืชสร้างโปรตีนที่จดจำรหัสพันธุกรรมของไวรัส จากนั้นสกัดโปรตีนนั้นให้บริสุทธิ์เพื่อทำเป็นวัคซีน เป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีและวัคซีนมะเร็งปากมดลูกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว จากผลการทดลองในหนูและลิง พบว่า สามารถกระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี มีความปลอดภัย และไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564
- วัคซีน COVIGEN เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ (DNA-based vaccine) สามารถฉีดแบบไร้เข็มฉีดยาได้ จึงไม่ก่อให้เกิดขยะหรือความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากเข็มฉีดยา และสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ไบโอเนท - เอเชีย จำกัด และ บริษัทเทคโนวาเลีย จากการทดลองวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่า มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย และกำลังยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ในประเทศไทยภายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564
การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 สำหรับประเทศไทยเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะจะช่วยลดการนำเข้าวัคซีนโควิด 19 จากต่างประเทศ อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านวัคซีนของประเทศอย่างยั่งยืน และยังส่งผลต่อความมั่นใจในการดำเนินชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคมไทยอีกด้วย ดังนั้น วัคซีนโควิด 19 สัญชาติไทยจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยท่ามกลางหวาดวิตกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยคาดว่าวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ จะนำมาใช้ได้ช่วงประมาณกลาง ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
เรียบเรียงโดบ : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.
แหล่งข้อมูล :
แพทย์จุฬาฯ เผยข่าวดีการทดสอบวัคซีน “ChulaCov19” ในอาสาสมัคร เร่งวิจัยระยะต่อไป. 2564, แหล่งที่มา https://www.chula.ac.th/news/49656/ [18 สิงหาคม 2564]
วัคซีนจุฬาฯ: ผลทดสอบ วัคซีนจุฬาคอฟ19 ในอาสาสมัครระยะที่ 1 พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีสูงเทียบไฟเซอร์. 2564, แหล่งที่มา https://www.bbc.com/thai/thailand-58233400 [18 สิงหาคม 2564]
จุฬาฯ จ่อทดสอบ วัคซีนใบยาสูบ ก.ย.นี้ คาดป้องกันสายพันธุ์ใหม่โควิดได้. 2564, แหล่งที่มา https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6561072 [18 สิงหาคม 2564]
วัคซีนโควิด HXP - GPO Vac องค์การเภสัชกรรม เปิดไทม์ไลน์ คาดกลางปี 65 เริ่มผลิต. 2564, แหล่งที่มา https://www.thansettakij.com/general-news/492126 [18 สิงหาคม 2564]
อว. เผย ไทยฉีดวัคซีน. 2564, แหล่งที่มา https://www.mhesi.go.th/index.php/all-media/infographic/4187-98642.html [18 สิงหาคม 2564]
University of Sydney receives approval to start COVALIA, a Phase 1 Clinical Trial of COVIGEN. 2564, แหล่งที่มา https://bionet-asia.com/th/covigen-a-new-covid-19-vaccine-candidate-in-australia/ [18 สิงหาคม 2564]
‘วัคซีน’สัญชาติไทยแบรนด์ไหน กำลังจะเข้าเส้นชัย. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953321?anm&fbclid=IwAR37d6NMp9HMp-2eUZYBsOtx1Y3Wyr8ZOYIS1D-GdQyDcwdZ8haJ__KCLWs [18 สิงหาคม 2564]