กฎหมายกับอวกาศ

กฎหมายกับอวกาศ

30-11-2021
กฎหมายกับอวกาศ

กฎหมายอวกาศ ?

     เพราะเรื่องอวกาศไม่ได้ไกลตัวอีกต่อไป เมื่อหลายชาติต่างให้ความสำคัญ และพยายามพัฒนาศักยภาพให้ประเทศตนเองเป็นชาติแรกในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอวกาศ และต่างยึดครองวัตถุอวกาศ เพื่อนำมาวิจัยศึกษา จึงเป็นเหตุให้เกิด กฎหมายอวกาศ ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศ ที่ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรม เช่น การสำรวจ การวิจัย และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในอวกาศ ซึ่งกฎหมายนี้ครอบคลุมทั้งกฎหมายประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ประเทศไทยมีกฎหมายอวกาศหรือไม่ ?

     สำหรับประเทศไทยมีองค์กรที่ดูแลและกำกับเรื่องอวกาศอย่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมอวกาศ หรือปรากฎการณ์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับการการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ เพราะมีความพยายามที่จะไปเยือนดาวดวงอื่นเหมือนกับเพื่อน ๆ เลยเร่งจัดตั้งหน่วยงาน และพัฒนาบุคลากร รวมถึงรวบรวมองค์ความรู้ และ ร่าง พรบ. กิจการอวกาศ ขึ้น ซึ่งใจความสำคัญคือ สร้างความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economy รายละเอียดพอสังเขปดังนี้

  1. การดำเนินกิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์ในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงด้านการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และด้านอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างยั่งยืน
  2. การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยให้สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนสร้างเครือข่ายการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านกิจการอวกาศของประเทศ ตลอดจนการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของต่างประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับกิจการอวกาศ
  3. การส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับกิจการอวกาศและวัตถุอวกาศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทยที่เกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายจากการดำเนินกิจการด้านอวกาศของต่างประเทศ
  4. การสร้างกลไกขับเคลื่อนนโยบายและแผนกิจการอวกาศ

และจัดตั้ง สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ขึ้นเพื่อกำกับ ควบคุม ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากิจการอวกาศ เช่น การสืบค้นข้อมูล การวิจัย และการลงทุน ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายและแผนกิจการอวกาศและเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ประสานการดำเนินงานด้านกิจการอวกาศทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ อ่านรายละเอียดได้ที่: http://www.gistda.or.th/main/th/node/4707

ทั้งนี้หน่วยงานกิจการอวกาศยังมีหน้าที่ดูแลการวางแผนนโยบายด้านอวกาศอีกด้วย ซึ่งเป็นการดีที่มีหน่วยงานดูแลอย่างชัดเจน แต่หลายคนคงกังวลเรื่องการจัดการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาล ซึ่งมักผูกขาด หรือปิดกั้นการพัฒนาจากหน่วยงานเอกชน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ประเทศไทยไม่ไปถึงฝั่งฝัน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

[1] 2563./ ทำไมประเทศไทยจึงต้องมีกฎหมายอวกาศ..ตอนที่ 1/2./ สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564./ เข้าได้จาก: https://www.gistda.or.th/main/th/node/3913
[2] กฎหมายอวกาศ./ สืบค้นเมื่อที่ 13 กรกฎาคม 2564./ เข้าได้จาก: วันที่https://treaties.mfa.go.th/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8
[3] 2564./ อ่านเนื้อหา ร่าง พรบ. กิจการอวกาศ./ สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564./ เข้าได้จาก: https://www.facebook.com/spaceth/photos/a.430164337368065/1405065986544557
[4] 2564./ ร่าง พรบ.กิจการอวกาศ (ล่าสุด)./ สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564./ เข้าได้จาก:  http://www.gistda.or.th/main/th/node/4707

เรียบเรียง: วรรณวจี สุจริตธรรม
ตรวจทาน: ยงยุทธ แก้วจำรัส
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน