https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2021/02/im_190264_987606-1024x682.jpg
วัคซีนจุฬาคอฟ 19 (ChulaCov19) พัฒนาโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดรูว์ เวสแมน จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้การนำสารพันธุกรรม หรือ เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
วัคซีนจุฬาคอฟ 19 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ตัวแรกที่พัฒนาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และโมเดอร์นา (Moderna) เมื่อวัคซีนนี้เข้าสู่ร่างกาย ชิ้นส่วนเอ็มอาร์เอ็นเอจะสร้างโปรตีนที่ลักษณะคล้ายโปรตีนบนส่วนหนาม (Spike Protein) บนผิวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้วัคซีนดังกล่าวสามารถเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 3 เดือน และในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ได้ 2 สัปดาห์
ทีมผู้พัฒนาวัคซีนได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในลิง และหนูทดลองที่ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าทางจมูก พบว่าสามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสในจมูกและปอด ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ทั้งนี้วัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยจะทำการศึกษาในอาสาสมัครกลุ่มแรกที่มีอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน และกลุ่มที่สองที่มีอายุ 65-75 ปี จำนวน 36 คน และคาดว่าจะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคม 2564
หากผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนจุฬาคอฟ 19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตามค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด วัคซีนนี้ก็จะเป็นหนึ่งในวัคซีนความหวังฝีมือคนไทยที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวัคซีนระดับโลก ที่ไม่เพียงช่วยให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ยังเป็นการศักยภาพของนักวิจัยไทยที่มีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก
เรียบเรียงโดย : นางสาวรวิภา ขำสวัสดิ์ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของแหล่งข้อมูล :
“Thailand Vaccine ChulaCov19” วัคซีนรุ่นแรกของไทย แพทย์จุฬาฯ เริ่มฉีดทดลองในมนุษย์แล้ว. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.chula.ac.th/news/47758/ [29 มิถุนายน 2564]
วัคซีนจุฬาฯ: ChulaCov19 กับเป้าการเป็นวัคซีนเข็มสามสำหรับคนไทย. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-57592424 [29 มิถุนายน 2564]
“ความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19”. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.chula.ac.th/news/43752/ [29 มิถุนายน 2564]