หลายคนสังเกตเห็นว่า กระดาษจะเปลี่ยนสีไปตามกาลเวลา และเริ่มมีสีเปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสกับแสงแดดหรือถูกทิ้งอยู่ภายนอกบ้าน
กระดาษ ผลิตจากเส้นใยเซลลูโลส ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในผนังเซลล์ของพืช ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี แต่มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดี
จึงทำให้เรามองเห็นเส้นใยพืชและกระดาษเป็นสีขาว เส้นใยพืชส่วนใหญ่จะประกอบด้วยเซลลูโลสและลิกนิน ซึ่งลิกนินจะเป็นตัวช่วยเชื่อมให้เส้นใยติดกัน แต่จะเกิด
การเสื่อมสภาพได้ง่ายโดยรังสีอัลตร้าไวโอเลตที่มีในแสงแดด ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของเยื่อกระดาษ เนื่องจากลิกนินมีความไวต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดย
เมื่อสัมผัสกับออกซิเจน ความชื้น และแสงแดด จะทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลเป็นควิโนน ทำให้เยื่อกระดาษกลายเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล ในขบวนการผลิต กระดาษ ลิกนินจึงถูกขจัดออกจากเยื่อกระดาษ และเติมสารสังเคราะห์ตัวอื่นเข้าไปแทน
แต่กระดาษหนังสือพิมพ์ไม่มีการกำจัดตะกอนลิกนินออก เพื่อประหยัดต้นทุน และมีส่วนประกอบของลิกนินมากกว่ากระดาษสีขาวที่ผ่านกระบวนการการฟอกขาว ดังนั้นกระดาษหนังสือพิมพ์จึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้รวดเร็วกว่ากระดาษสีขาวนั่นเอง
ผู้เขียน: กฤตภาส ยะลา
ที่มารูปภาพ:
https://www.theonefeather.com/2016/04/133-year-old-newspaper-donated-to-museum/
ที่มาของแหล่งข้อมูล:
https://www.scimath.org/article-chemistry/item/8392-2018-06-01-02-41-28