"โป่ง"

"โป่ง"

02-12-2021
"โป่ง"

http://baimai.org/activities/saltlick-2/

 

ทราบหรือไม่ว่าในธรรมชาติ สัตว์ป่าหลายชนิดจำเป็นต้องอาศัยแร่ธาตุเพื่อการดำรงชีวิตที่ได้จากแหล่งดินโป่ง (Mineral lick/salt lick)โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์กินพืข (Herbivore) เนื่องจากธาตุอาหารหลายชนิดที่ได้รับจากพืชอาหารที่พวกมันกินเข้าไปนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

    โดยทั่วไปแล้ว โป่ง ที่เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญของสัตว์ป่านั้น เราจะเรียกว่า โป่ง ก็ต่อเมื่อ พื้นที่บริเวณนั้น ถูกสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งถือเป็น บริเวณหรือพื้นที่เฉพาะที่มีการสะสมของแร่ธาตุ จากกระบวนการกัดเซาะ ชะล้างแร่ธาตุรวมกันในดินหรือน้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดโป่งธรรมชาติ 2 ประเภทหลักคือ โป่งดินและโป่งน้ำ

               โป่งดิน หรือ โป่งแห้ง  โป่งดินจะพบตามริมหรือในห้วยที่เป็นที่ราบมักเป็นเนินเตี้ย ๆ หรือเป็นหย่อมดินโล่งอยู่กลางบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ สังเกตเห็นได้จากการที่มีร่อยรอยการใช้ของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นรอยขุด รอยตีนย่ำ สัตว์มักจะใช้อวัยวะต่างๆในร่างกายขุดลงไป  เช่น กีบ เล็บขา งา เขา ปาก ซึ่งปกติจะลึกไม่เกิน 1 เมตร เพื่อกินดินเหล่านั้น โดยเริ่มกินที่ผิวดินก่อนแล้วค่อย ๆ กินลึกลงไปเป็นบริเวณกว้างไม่เกิน 10 เมตร  ในฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ป่าจะไม่เลียกินดินแต่จะเลียกินน้ำแทน

               โป่งน้ำ โดยปกติเป็นแหล่งที่เป็นต้นน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นน้ำซึมหรือน้ำซับหรือที่ไหลออกมาจากภูเขา  แอ่งหรือบ่อที่เป็นโป่งดินมาก่อนโดยจะมีน้ำขังตลอดปี มักพบโป่งน้ำตามภูเขา

               ธาตุอาหารหลัก (Major element) ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องการ เช่น โซเดียม (Na) แคลเซียม (Ca) โพแทสเซียม(K) แมกนีเซียม (Mg) ฟอสฟอรัส (P) และธาตุอาหารรอง (Minor element/ trace element) อย่างเช่น เหล็ก (Fe) ทองแดง (Cu) ซีลีเนียม (Se) โคบอลต์ (Co) และไอโอดีน (I)  ล้วนแล้วแต่พบได้ในบริเวณที่เป็นแหล่งโป่งทั้งสิ้น  ซึ่งธาตุอาหารเหล่านี้จำเป็นต่อกระบวนการเจริญเติบโต รักษาสมดุลเมตาโบลึซึม (metabolism) สร้างเสริมเนื้อเยื่อกระดูกและระบบสืบพันธุ์ รวมถึงช่วยผลิตน้ำนม ฯลฯ โดยปกติแล้ว แร่ธาตุที่พบในโป่งมีความแปรผันค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดแร่ธาตุจากหิน ดิน น้ำ และประเภทป่าในบริเวณนั้น จึงทำให้สัดส่วนแร่ธาตุในโป่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยชนิดดินที่พบของโป่งธรรรมชาติมักมีแร่ดินเหนียว (clay minerals) ในกลุ่มเคลิไนต์ (Kalinite) และกลุ่มอิลไลต์ (Illite) อยู่ในปริมาณสูง ดังนั้นเมื่อพิจารณาธาตุองค์ประกอบหลักในโป่งธรรมชาติ และหลักฐานความต้องการธาตุอาหารในสัตว์ป่า โซเดียมและแคลเซียมถือเป็นแร่ธาตุหลัก ตามมาด้วยธาตุอาหารรอง และมีแร่ดินเหนียวเป็นองค์ประกอบสำคัญ สัตว์ป่าหลายชนิดทั้งนกและสัตว์เลี้ยงลูกนมเข้ามาใช้ประโยชน์ ด้วยการกินก้อนดินหรือน้ำจากโป่งโดยตรง สัตว์ป่าที่เข้ามาใช้โป่ง เช่น ช้างป่า หมูป่า เก้ง กวางป่า เลียงผา กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ลิง ค่าง  นกบางชนิด เช่น นกเขาเปล้า นกแขกเต้า เป็นต้น นอกจากนี้ บริเวณแหล่งโป่ง เราพบว่ามีสัตว์ผู้ล่าเช่น เสือโคร่ง เสือดาว ก็มักได้อาศัยการหลบซุ่มบริเวณแหล่งโป่ง เพื่อคอยล่าเหยื่อที่เข้ามากินโป่ง ด้วยเช่นกัน 

               จะเห็นได้ว่า แหล่งดินโป่งในธรรมชาติจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในป่าไม่น้อย และเป็นแหล่งที่สามารถพบเห็นสัตว์ป่าได้บ่อยและซุกชุมมากกว่าพื้นที่อื่นๆในป่าอีกด้วย

ข่าวสารที่่คล้ายกัน