ทราบหรือไม่ว่ามนุษย์ใช้เวลาในการนอนนานถึงหนึ่งในสามของอายุขัย การนอนหลับมีความสำคัญเนื่องจากจะทำให้ร่างกายได้พักผ่อนและฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้า ที่เกิดจากการทำกิจกรรมมาตลอดทั้งวัน โดยปกติผู้ใหญ่วัยทำงานจะมีเวลานอนเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง ทารกแรกเกิดนอนมากกว่า 12 ชั่วโมง เด็กนอนวันละ 10-12 ชั่วโมง เมื่อมีอายุมากขึ้นเวลานอนก็จะน้อยลงตามลำดับ ซึ่งนอกจากเวลานอนที่มีผลต่อความสดชื่นของร่างกายแล้ว คุณภาพในการนอนที่ดีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอน อาทิเช่น ที่นอน หมอน หรือแม้แต่ท่านอน
ท่านอนหงาย เป็นท่านอนที่นิยมของคนส่วนใหญ่ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ เพราะท่านอนหงายจะทำให้กะบังลมที่คั่นระหว่างช่องอกและช่องท้องทับอยู่บนปอดจึงทำให้หายใจไม่สะดวก ไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีโรคปอด และผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะจะทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือด และเกิดภาวะหายใจติดขัด สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลัง การนอนหงายจะทำให้กระดูกสันหลังเรียงตัวไม่คดโค้ง แต่ที่นอนไม่ควรแข็งจนเกินไป เพราะจะทำให้แผ่นหลังเกิดแรงกดทับ ส่วนผู้ที่มีอาการปวดหลังจากโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบรัดเส้นประสาท (Lumbar spinal stenosis) หากนอนหงายต้องนอนโดยงอเข่าขึ้น แล้วนำหมอนมารองใต้เข่า ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้เช่นกัน
ท่านอนตะแคงซ้าย เป็นท่านอนที่ทำให้หัวใจซึ่งอยู่ด้านซ้ายเต้นลำบาก ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจจึงควรหลีกเลี่ยงท่านอนนี้ นอกจากนี้ยังทำให้หายใจไม่สะดวก เนื่องจากปอดด้านซ้ายไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ แต่ข้อดีของการนอนตะแคงซ้ายคือ ป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน เนื่องจากไม่ทำให้น้ำย่อยหรือสิ่งที่อยู่ในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาตามหลอดอาหาร แต่หากนอนทันทีหลังจากทานอาหารเสร็จ จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนได้ ดังนั้นควรจะเว้นระยะเวลา 30 - 60 นาที ก่อนจะล้มตัวลงนอน หากไม่เว้นระยะพัก และเข้านอนด้วยท่าตะแคงซ้ายทันทีหลังทานอาหารเสร็จโดยไม่มีการเปลี่ยนท่าจะทำให้เกิดลมจุกเสียดที่กระดูกลิ้นปี่ ซึ่งเป็นตำแหน่งของกระเพาะด้านซ้ายทำให้เกิดอาการเจ็บปวดจากการกดทับเป็นเวลานาน
ท่านอนตะแคงขวา เป็นท่านอนที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับท่าอื่นๆ เนื่องจากหัวใจไม่ถูกกดทับ อาหารจากกระเพาะอาหารถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี เป็นท่านอนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ แต่ข้อเสียคือ อาจทำให้เจ็บปวดหัวไหล่ขวา หรือปวดบริเวณต้นคอหากใช้หมอนต่ำเกินไป
สุดท้าย คือ ท่านอนคว่ำ เป็นท่านอนที่ทำให้หายใจไม่สะดวก และ ทำให้ปวดต้นคอได้ เนื่องจากต้องเงยมาด้านหลัง หรือหมุนไปด้านซ้าย หรือด้านขวานานเกินไป ผู้ที่มีอาการปวดต้นคอควรหลีกเลี่ยงท่านอนคว่ำ เพราะจะทำให้กระดูกต้นคอเกิดแรงกดทับมาก
ท่านอนแต่ละท่ามีข้อดีและข้อเสียต่างกัน แต่ไม่มีเกณฑ์ใดที่จะบ่งบอกแน่ชัดว่าท่านอนที่ถูกต้องที่สุดคือท่าใด การนอนท่าที่ตนสบายอาจเป็นวิธีการนอนที่ดีที่สุด แต่การเลือกท่านอนที่เหมาะสมกับสรีระและสุขภาพของตนเอง ก็เป็นแนวทางการนอนที่ดีเช่นกัน
ที่มาข้อมูล :
ท่านอนอันตราย . [ออนไลน์]. 2018, แหล่งที่มา: https://www.thaihealth.or.th/Content/42017%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html [17 สิงหาคม 2563]
นอนถูกท่า หลับสบาย หายปวดเมื่อย. [ออนไลน์]. 2017, แหล่งที่มา:
https://zzz.dreamingmoby.com/%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2-18b19161dadc[17 สิงหาคม 2563]
ท่านอนดี สุขภาพดี. [ออนไลน์]. 201, แหล่งที่มา:
https://www.nestle.co.th/th/nhw/news/%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B8%B5[17 สิงหาคม 2563]
คำค้น : ท่านอน
ผู้เขียน : นางสาวรวิภา ขำสวัสดิ์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.