“วัคซีนไฟเซอร์” ชนิด mRNA ชุดแรกของไทย

“วัคซีนไฟเซอร์” ชนิด mRNA ชุดแรกของไทย

01-12-2021
“วัคซีนไฟเซอร์” ชนิด mRNA ชุดแรกของไทย

ประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จากประเทศสหรัฐอเมริกามา จำนวน 1.5 ล้านโดส เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศ นับเป็นวัคซีนสารพันธุกรรมชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA vaccine) ชุดแรกที่ถูกนำเข้ามาในประเทศ โดยจะดำเนินการฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ลดอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตลงได้

วัคซีนไฟเซอร์ มีชื่อทางการว่า BNT162b2 ประเทศผู้ผลิต คือ สหรัฐอเมริกา เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA vaccines) ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเท็ค (BioNTech) หากนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาจะมีชื่อติดข้างขวดว่า “Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine” แต่ในแถบประเทศยุโรปและประเทศอื่น ๆ จะใช้ชื่อทางการค้าว่า โคเมอร์เนตี (COMIRNATYTM) ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 และ (World health organization: WHO) ให้การรับรองเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนไฟเซอร์ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทยได้ เมื่อวัน 24 มิถุนายน 2564 นับเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิดที่ 6 ที่ผ่านการอนุมัติจาก อย.

วัคซีนไฟเซอร์ ผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า mRNA (Messenger Ribonucleic Acid) เป็นการจำลองหรือสังเคราะห์โมเลกุลสารพันธุกรรมที่คล้ายกับโปรตีนหนาม (Spike protein) ของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่จับกับเซลล์ในร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อ โมเลกุล mRNA ที่ผลิตขึ้นนี้จะถูกห่อหุ้มด้วยพาหะซึ่งทำจากอนุภาคไขมันในระดับนาโนเมตร (Lipid nanoparticle) เพื่อป้องกันการย่อยสลายจากเอนไซม์ เมื่อวัคซีนถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย เซลล์ในร่างกายจะย่อยสลายอนุภาคไขมันดังกล่าว จากนั้น mRNA จะไปกำกับให้เกิดการผลิตโปรตีนหนามของไวรัสชนิดนี้ ซึ่งโปรตีนนี้จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เกิดการสร้างแอนติบอดียับยั้งเชื้อ (Neutralizing antibody) และเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อแอนติเจนส่วนหนามของไวรัส เพื่อต่อต้านและป้องกันจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 จากคุณสมบัติทางคลินิกของวัคซีนไฟเซอร์ มีข้อบ่งชี้สำหรับฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อเดลทอยด์ (Deltoid) หรือกล้ามเนื้อแขนด้านบน เช่นเดียวกับวัคซีนโควิด 19 ชนิดอื่น ๆ และห้ามฉีดวัคซีนเข้าทางหลอดเลือดดำใต้ผิวหนัง หรือในผิวหนัง โดยวัคซีน 1 ขวด จะสามารถผสมและฉีดวัคซีนได้จำนวน 6 โดส หรือ 6 คน ในปริมาตร 0.3 มิลลิลิตร โดยแบ่งการฉีดเป็น 2 เข็ม และเข็มที่ 2 จะฉีดห่างหลังจากเข็มแรกประมาณ 21-28 วัน โดยภูมิคุ้มกันจะเริ่มเกิดหลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกไปแล้ว 12 วัน แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่หลังจากฉีดครบ 2 เข็ม สำหรับการเก็บรักษาวัคซีนไฟเซอร์นั้นหากเก็บที่อุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 6 เดือน หรือหากเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส ได้ประมาณ 1 เดือน

วัคซีนไฟเซอร์น่าจะเป็นทางออกหลักสำหรับประเทศไทยในตอนนี้ ด้วยประสิทธิภาพในการป้องกันต่อเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 รวมถึงสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ได้ดี อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังด้านประสิทธิผลของไฟเซอร์คงไม่ต่างกับวัคซีนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ที่เข้ามาไทย คือการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิตสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพนก็คือการปฎิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หมั่นล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% และการเว้นระยะห่างทางสังคม สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดโอกาสการติดเชื้อระหว่างบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรียบเรียงโดย : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.

ที่มาข้อมูล :
รู้จักวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ดีไหม ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://vichaivej-nongkhaem.com/health-info/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C/ [6 สิงหาคม 2564]
Pfizer and BioNTech Provide Update on Booster Program in Light of the Delta-Variant NEW YORK and MAINZ, GERMANY. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://cdn.pfizer.com/pfizercom/2021-07/Delta_Variant_Study_Press_Statement_Final_7.8.21.pdf?IPpR1xZjlwvaUMQ9sRn2FkePcBiRPGqw [6 สิงหาคม 2564]
เอกสารกำกับยาภาษาไทย โคเมอร์เนตี(COMIRNATYTM). [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR1C1072640000811C-SPC-TH.pdf [6 สิงหาคม 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน