รู้หรือไม่ แม้ผู้ป่วยโรคโควิด 19 (COVID-19) จะรักษาตัวจนหายและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสแล้ว แต่ผู้ป่วยบางคนอาจต้องเผชิญกับภาวะผิดปกติระยะยาวหลังจากหายป่วยจากโรคโควิด 19 หรือที่เรียกว่า Long COVID ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย บางคนอาจหายจากภาวะผิดปกติในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ แต่บางคนอาจต้องเผชิญภาวะผิดปกตินานถึง 7 เดือน
นักวิจัยในประเทศอังกฤษศึกษาเกี่ยวกับภาวะ Long COVID มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 พบว่า เกิดขึ้นได้ในผู้หายป่วยจากโรคโควิด 19 ทุกเพศ ทุกวัย โดยอาการที่พบบ่อย คือ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องเสีย สูญเสียความทรงจำ หูอื้อ สูญเสียการรับรู้รส และกลิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยจำนวนมีอาการทางจิตเวช เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า และเกิดความผิดปกติทางอารมณ์ เนื่องจากจิตใจต้องเผชิญกับความวิตกกังวล ความเครียด และความกลัวที่เกิดจากการป่วยทางกาย จนทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่
แม้จะได้รับการรักษาจนหายแล้ว แต่ผู้ป่วยโรคโควิด 19 ก็ยังต้องถูกกักตัวต่ออย่างน้อย 14 วัน และใช้ชีวิตภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น มาตรการล็อคดาวน์ ยกเลิกกิจกรรมบางอย่าง และการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียด และความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ดังนั้นจึงควรเฝ้าสังเกต และติดตามภาวะต่าง ๆ ทั้งทางกาย และจิตใจของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด 19 เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง
เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference):
'Long Covid': Why are some people not recovering? [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/news/health-54296223 [31 สิงหาคม 2564]
Coronavirus: 'Long Covid' impact estimated. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/news/health-55331166 [31 สิงหาคม 2564]
Largest study to date suggests link between COVID-19 infection and subsequent mental health and neurological conditions. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.psych.ox.ac.uk/news/largest-study-to-date-suggests-link-between-covid-19-infection-and-subsequent-mental-health-and-neurological-conditions [31 สิงหาคม 2564]
Characterizing long COVID in an international cohort: 7 months of symptoms and their impact. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.thelancet.com/journals/eclinm/article/PIIS2589-5370(21)00299-6/fulltext [31 สิงหาคม 2564]
Identification of over 200 long Covid symptoms prompts call for UK screening programme. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.ucl.ac.uk/news/2021/jul/identification-over-200-long-covid-symptoms-prompts-call-uk-screening-programme [31 สิงหาคม 2564]