อ้วนดำ

อ้วนดำ

01-12-2021
อ้วนดำ

ชื่อไทย : คางคกบ้าน

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Asian common toad, Black-spined toad

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Duttaphrynus melanostictus (Schneider, 1799)

 

           สำหรับบ้านที่มีบริเวณโดยรอบซึ่งมีอ่างน้ำหรือแอ่งน้ำขัง ช่วงกลางคืนอาจได้ยินเสียงร้อง "อ่อด ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ" ดังสนั่นต่อเนื่องจนอาจทำให้นอนไม่หลับ หลายคนไม่สนใจแต่หลายคนคงหยับไฟฉายออกไปส่องดู ลำแสงจากไฟฉายอาจไปกระทบกับสิ่งมีชีวิตตัวอ้วนกลม ผิวหนังขรุขระตะปุ่มตะป่ำสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลเข้ม นั่งเก็บขาคู่หน้าและหลังขนาดสั้น ๆ ของมันอย่างเรียบร้อยกับลำคอกระพือโป่งพองเป็นจังหวะตามเสียงร้องบนขอบอ่างบัว ก่อนหันหน้าส่งสายตาเข้าหาตามแสงแสดงความรำคาญแล้วกระโดดหนีไปเนื่องจากถูกรบกวน นั่นคือเสียงร้องเรียกหาคู่ของคางคกบ้านเพศผู้ซึ่งร้องเรียกคางคกบ้านเพศเมียให้เข้ามาผสมพันธุ์ ซึ่งถ้าสำเร็จไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีสิ่งใดมารบกวน ยามเช้าจะได้เห็นสายไข่ลักษณะเป็นเส้นวุ้นโปร่งใสข้างในมีเม็ดกลมเล็ก ๆ สีดำเรียงกันยาวพันระโยงระยางมากมายในแหล่งน้ำ

เกร็ดวิทย์

       พัฒนาการต่อมาไม่กี่วัน เม็ดกลมดำในสายไข่นั้นก็จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ลูกอ๊อดคางคกขนาดเล็ก ตัวอ้วนกลมดำ มีหางแต่ยังไม่มีรยางค์ขา ว่ายไปมาสะเปะสะปะเต็มอ่างน้ำ รูปร่างหน้าตาช่างแตกต่างจากตัวเต็มวัย นั่นเป็นเพราะพวกมันต้องพึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้างที่เรียกว่า Metamorphosis ก่อนจึงจะมีรูปร่างเหมือนพ่อและแม่ของมัน เจ้าตัวน้อยพวกนี้จะใช้ฟันขนาดเล็กซึ่งขึ้นเป็นแถวเรียงกันในช่องปากขูดและถากสาหร่าย ซากพืช หรือซากสัตว์ในน้ำ (ถ้ามี) กินเป็นอาหาร ต่อมาไม่นานอีกประมาณสองถึงสามอาทิตย์ เจ้าตัวน้อยเหล่านั้นจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างรยางค์ขาคู่หลังจะพัฒนางอกออกมาก่อน เมื่อมีขนาดรยางค์ขาคู่หลังโตมีขนาดใหญ่ขึ้น โครงสร้างขาคู่หน้าจะเริ่มพัฒนาพร้อมกับเหงือกช่วยหายใจเริ่มลดรูปหายไปและปอดที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ กะโหลก โครงกระดูก และอวัยวะภายในจะเริ่มคล้ายตัวเต็มวัยจน ยกเว้นส่วนหางที่ยังคงมีอยู่ แต่สุดท้ายหางจะหดเล็กจนหายไปเมื่อตัวอ่อนคางคกบ้านตัวน้อยเหล่านี้ขึ้นจากน้ำมาอาศัยบนบก ลำตัวของเจ้าคางคกบ้านน้อยมีสีน้ำตาล ตะปุ่มตะป่ำบนผิวหนังมีสีส้มซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อโตขึ้น พวกมันกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหารและดำเนินชีวิตต่อไปด้วยลำแข้งของตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยให้ใครมาดูแล

เกร็ดวิทย์

      เมื่อคิดถึงความเปียกชื้นเฉอะแฉะพร้อมเม็ดฝนที่โปรยร่วงลงจากท้องฟ้า ดูเหมือนไม่เหมาะนักกับเมืองใหญ่และมนุษย์ผู้ครอบครองเมืองนั้น กระนั้น สำหรับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ช่วงเวลานี้นับได้ว่าเป็นช่วงเวลามหัศจรรย์แห่งการจับคู่ การผสมพันธุ์ การวางไข่เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ ซึ่งนั่นก็เป็น "ช่วงเวลาแห่งชีวิต"

ในสถานการณ์น่าหดหู่และต้องรักษาระยะห่างกับผู้คน คงมีธรรมชาติรอบตัวนี่แหล่ะที่ไม่ควรเว้นหรือสร้างระยะห่าง เพราะมันคือชีวิตรอบตัวและชีวิตของเราเอง

Related