จริงหรือไม่? แตงกวามีรสขมเพราะงูเลื้อยผ่าน

จริงหรือไม่? แตงกวามีรสขมเพราะงูเลื้อยผ่าน

02-12-2021
จริงหรือไม่? แตงกวามีรสขมเพราะงูเลื้อยผ่าน

แตงกวา (Cucumis sativus L.เป็นไม้เลื้อยวงศ์เดียวกับแตงโม ฟักทอง บวบ มะระ น้ำเต้า มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แตงกวามีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 95 แตงกวามีคุณสมบัติแก้อาการกระหายน้ำ ลดความร้อนในร่างกาย เพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยกำจัดของเสียที่ตกค้างภายในร่างกาย นอกจากนี้แตงกวายังเป็นพืชที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิด เช่น วิตามินซี กรดคาเฟอิก ซิลิกา โพแทสเซียม แมงกานีสและแมกนีเซียม

คนที่ชื่นชอบการรับประทานแตงกวา อาจเคยสงสัยว่า เพราะเหตุใดแตงกวาจึงมีรสขมในบางผลหรือไม่ได้ขมทั้งผล ส่วนใหญ่จะมีรสขมมากที่สุดบริเวณขั้ว ตามความเชื่อเมื่อนานมาแล้วกล่าวว่า แตงกวาขมเพราะงูเลื้อยผ่าน แท้ที่จริงแล้วไม่เป็นความจริง สาเหตุที่แตงกวามีรสขมเนื่องจากสารคิวเคอร์บิทาซิน (Cucurbitacin) ซึ่งเป็นสารที่พืชในตระกูลฟักแฟงเกือบทุกชนิดสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองจากสัตว์กินพืช และนอกจากนี้สารคิวเคอร์บิทาซิน ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านสารอนุมูลอิสระที่อาจก่อมะเร็งได้ มีการศึกษาค้นคว้าภายในห้องปฏิบัติการ พบว่าแตงกวามีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งภายในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งในคน

อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะทำให้แตงกวาหายขม ทำได้โดยใช้มีดหั้นขั้วแตงกวาประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นให้นำขั้วแตงกวามาประกบกับแตงกวาผลเดิมและถูวนเป็นวงกลมเบา ๆ ขณะที่ทำการถูเราจะสังเกตเห็นฟองสีขาวเกิดขึ้น ให้ถูวนไปเรื่อย ๆ จนหมดฟอง วิธีนี้จะเป็นวิธีการช่วยดึงสารคิวเคอร์บิทาซินที่สะสมอยู่มากบริเวณขั้วออกไปได้

 

ที่มาของภาพ : https://www.chiangmainews.co.th/wp-content/uploads/2017/02/p8-2.jpg

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference) :

ที่มา : รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), สถาบันการแพทย์แผนไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  [30 มกราคม 2564]

แตงกวา กับคุณค่าทางโภชนาการต่อร่างกาย [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.pobpad.com/%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A0%E0%B8%8A%E0%B8%99

Related