เทคนิค PCR

เทคนิค PCR

14-12-2021
เทคนิค PCR

เทคนิค PCR หรือมีชื่อเต็มว่าเทคนิค Polymerase Chain Reaction เป็นคำศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์สำหรับเรียกวิธีการทดสอบด้านชีวโมเลกุลในการสร้างปฏิกิริยาแบบลูกโซ่เพื่อเพิ่มจำนวน

สารพันธุกรรมหรือที่เราเรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA: Deoxyribonucleic acid) ในหลอดทดลอง มีการใช้ประโยชน์ในหลายด้านทั้งงานวิจัยศึกษาทางด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล การวินิจฉัยโรคทั้งในคน พืช และสัตว์หรือแม้แต่การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ในการใช้เทคนิค PCR แต่ละครั้งจะใช้สารเคมี และอุณหภูมิที่มีความจำเพาะ ใช้เวลานาน แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ผลได้ จำเป็นต้องใช้ร่วมกับเทคนิคอื่นเพื่อวิเคราะห์ผลการทดลอง ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคให้มีความรวดเร็ว และสามารถวิเคราะห์ผลการทดลองในคราวเดียวโดยไม่ต้องแยกการทดลองอีก การใช้ประโยชน์จากเทคนิคที่พัฒนานี้ สามารถวินิจฉัยได้ทั้งโรคที่เกิดจากไวรัส และแบคทีเรีย (ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก มาลาเรีย วัณโรค) และโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสในประเทศไทย สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ใช้เวลาตรวจสอบและรายงานผลได้ภายใน 3 ชั่วโมงเท่านั้น

การพัฒนาเทคนิค PCR นี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและข้อจำกัดการใช้งานที่จำเพาะในแต่ละประเภทของการวิจัย จึงมีการพัฒนาใช้ร่วมกันได้ในที่สุดเช่นมหาวิทยาลัยมหิดลได้พัฒนาเทคนิค LAMP PCR มาช่วยตรวจหาเชื้อโคโรน่าไวรัสซึ่งได้ผลการตรวจเร็วกว่าเทคนิคเดิมที่ใช้ตรวจอยู่ แม้จะพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในหลายสาขา แต่ก็ยังมีการใช้เทคนิค PCR แบบเดิมตามความเหมาะสมของแต่ละงานวิจัยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ผู้เขียน : นายทศวรรษ คุณาวัฒน์

ที่มาของแหล่งข้อมูล

1. มณฑิรา มณฑาทอง. 2556. เอกสารประกอบวิชา 311 305 Cell and Molecular Biology Laboratory.ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
2. ไทยรัฐออนไลน์. คอลัมน์สมาร์ทไลฟ์ปฏิบัติการตรวจหา "โคโรนา ไวรัส 2019" รู้ผลภายใน 3 ชั่วโมง [ออนไลน์]. 2016, แหล่งที่มา : [28 เมษายน 2563]
3. อารีย์รัตน์ หนูนวล. 2560. Molecular genetic testing techniques-Types of polymerase chain reaction[ออนไลน์].ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.แหล่งที่มา : https://meded.psu.ac.th/binlaApp/class02/B2_364_221/Molecular_genetic_part2/ref.html [28 เมษายน 2563]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน