แกรฟีน (Graphene) คือหนึ่งชั้นอะตอมของคาร์บอนที่เรียงตัวต่อกันเป็นวงหกเหลี่ยม (Hexagonal) ด้วยพันธะโคเวเลนต์ที่มีความแข็งแรง และมีการเชื่อมต่อกันเป็นโครงร่างลักษณะเหมือนกับรังผึ้ง
แกรฟีน เป็นวัสดุชนิดใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอัญรูป (Allotrope) ของคาร์บอน เป็นวัสดุที่บางที่สุดในโลก ฉะนั้นจึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แกรฟีนมีสมบัติที่โดดเด่นด้านความแข็งแกร่ง สามารถนำไฟฟ้าได้ดี และมีความยืดหยุ่นสูง สามารถถูกบิดงอได้ นักวิทยาศาสตร์จึงคิดค้นวิธีการผลิตแกรฟีนให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีสมบัติที่ควบคุมได้ จึงมีการนำวัสดุแกรฟีนมาใช้งานด้านต่าง ๆ เช่น นำแกรฟีนคอมโพสิตมาทำเป็นไม้แบดมินตันและไม้เทนนิส ทำให้ได้อุปกรณ์กีฬาที่มีความแข็งแรงทนทานแต่มีน้ำหนักเบากว่าเดิม ใช้ทำเกราะกันกระสุนแทนเคฟลาร์ (Kevlar) ใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ และวัสดุนำส่งยาระดับนาโนในทางการแพทย์ เป็นต้น ในประเทศไทยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแกรฟีนอยู่พอสมควร เช่น การใช้แกรฟีนเป็นหมึกนำไฟฟ้า (Conductive ink) ซึ่งพัฒนาโดยเนคเทค (NECTEC) หรือการใช้แกรฟีนละลายในน้ำสำหรับฉีดพ่นยางพารา เพื่อป้องกันเชื้อรา พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาพจาก: https://www.graphenesq.com/whatis/how.asp
ที่มาข้อมูล :
1. กราฟีน (Graphene). [ออนไลน์]. 2018, แหล่งที่มา: https://erp.mju.ac.th/openFile.aspx?id=Mjk4NjI2&method=inline [5 พฤษภาคม2563]
2. “แกรฟีน วัสดุ 2 มิติ เพื่ออนาคต”. [ออนไลน์]. 2018, แหล่งที่มา: https://www2.mtec.or.th/th/e-magazine/admin/upload/302_65.pdf [5 พฤษภาคม2563]
ผู้เขียน : นางสาวอัลวานีย์ สติรักษ์ นักวิชาการ กองวัสดุอุเทศพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.