ไซบอร์ก (Cyborg) เป็นระบบที่ทำงานร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับกลไกอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับการบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง Cyborgs and Space เขียนโดย Manfred E. Clynes และ Nathan S. Kline ค.ศ.1960 ไซบอร์กสามารถเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดไหนก็ได้ ตั้งแต่ แมลง นก สุนัข และอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ซึ่งสามารถพบเจอทั่วไปได้ในชีวิตประจำวันรอบ ๆ ตัว
การศึกษาและพัฒนาไซบอร์ก มักให้ความสนใจไปที่เครื่องจักร ซึ่งถูกสร้างหรือต่อเติมเข้าไปในร่างกายของมนุษย์เพื่อช่วยประคับประคอง และรักษาสุขภาพของมนุษย์ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร (Pacemaker implantation) ที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังในผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ช่วยให้การสร้างกระแสไฟฟ้าจากเซลล์ของหัวใจอยู่ในระดับที่ปกติ หรือแขนกลที่เชื่อมต่อปลายประสาทบริเวณแขนพิการ ทำให้สามารถตอบสนองต่อเส้นประสาทและสามารถขยับได้เหมือนแขนจริง ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพ ยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใส่เข้าไปในร่างกายเพื่อช่วยซ่อมแซม แก้ไขอวัยวะที่เสียไปให้กับร่างกายอีกด้วย
นอกจากเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์แล้ว ยังมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับไซบอร์กที่เพิ่มศักยภาพทางด้านอื่นๆอีก ตัวอย่างเช่น Exoskeleton เป็นอุปกรณ์สวมใส่สำหรับเป็นแขนขา เปรียบเสมือนโครงกระดูกให้กับคนปกติ ทำให้มีพลังมากขึ้น ลดความเหนื่อยล้าจากการใช้แรง มักใช้กับงานที่ต้องออกแรงเยอะๆ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ในหลายๆด้านทั้งทางทหารหรือทางอุตสาหกรรม บริษัทนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ของอีลอน มัสก์ ก็ได้มีการพัฒนาชิปขนาดเล็กที่ฝังอยู่ภายในสมองโดยทำหน้าที่เสมือนเซลล์ประสาทอีกตัวหนึ่ง สามารถกระตุ้นให้เซลล์ประสาททำงานตามคำสั่ง ทำให้ผู้ใช้ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รอบตัวด้วยใจนึก โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องสัมผัสอุปกรณ์เหล่านั้น อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีที่ประสานกับมนุษย์อาจจะช่วยให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น แต่การที่จะประยุกต์เทคโนโลยีเหล่านี้ให้มาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ยังเป็นเรื่องที่ยาก เพราะยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ยังไม่ครอบคลุมในการใช้ ทั้งด้านความปลอดภัย และด้านจรรยาบรรณต่อสิ่งมีชีวิต
เรียบเรียงโดย: เกียรติศักดิ์ ศิริมั่น อาสาสมัคร กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
อ้างอิงข้อมูล
มานุษยวิทยาไซบอร์ก (Cyborg Anthropology). 2564, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/265 [30 พฤศจิกายน 2565]
"อัปเกรดสมอง" วิวัฒนาการขั้นสุดยอดของมวลมนุษย์ ด้วยชิป Neuralink. 2565, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.tnnthailand.com/news/tech/111114/ [18 พฤศจิกายน 2565]
Bionics เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก. 2020, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.print3dd.com/bionics/ [18 พฤศจิกายน 2565]
คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.nakornthon.com/article/detail/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3 [18 พฤศจิกายน 2565]
Futuristic bionic arm helps amputees feel the sensation of touch and movement. 2021, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.cnet.com/science/futuristic-bionic-arm-helps-amputees-feel-the-sensations-of-touch-and-movement/ [18 พฤศจิกายน 2565]