เฮิร์ด อิมมูนิตี้ หรือ “ภูมิคุ้มกันหมู่” คือภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมมีภูมิคุ้มกันโรค โดยคิดเป็นสัดส่วนจำนวนคนที่สูงมากพอจนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ภูมิคุ้มกันหมู่อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรค หรือเกิดจากการฉีดวัคซีน ตามหลักการของ ภูมิคุ้มกันหมู่ คือ เมื่อชุมชนแห่งใดมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น สมาชิกส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือร่างกายอ่อนแอจนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ก็จะได้รับประโยชน์จากการปกป้องรวมหมู่นี้โดยอัตโนมัติ เพราะพาหะที่นำเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามาจะไม่สามารถส่งต่อเชื้อนั้นให้กับคนอื่น ๆ เป็นจำนวนมากจนเกิดการระบาดขึ้นได้
ในช่วงเวลาของโรคโควิด 19 ระบาดนี้ มีข่าวการใช้วิธีการ ภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อหยุดยั้งการระบาด แต่ก็มีการโต้แย้งเช่นกัน โดยที่ เซอร์ แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ เสนอให้มีการสร้าง ภูมิคุ้มกันหมู่ ในกลุ่มประชากร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 โดยเขาให้ความเห็นว่า การปล่อยให้ประชากรติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 60% ของประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในหมู่ผู้ที่หายป่วยและรอดชีวิต จะเป็นสมบัติส่วนรวมที่ช่วยปกป้องกลุ่มคนไม่มีภูมิคุ้มกันจากเชื้อร้ายได้โดยอัตโนมัติ
แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากคัดค้านข้อเสนอนี้ โดยชี้ว่าเป็นมาตรการที่เสี่ยงเกินไป และอาจทำให้มีผู้ล้มป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน และมีความเห็นว่า วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมในตอนนี้ โดยควรให้ความสำคัญกับ มาตรการกักกันโรค และการเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น จะช่วยชะลออัตราการแพร่ระบาดโรคได้ดีกว่า และไม่มีความเสี่ยงต่อชีวิตมนุษย์อีกด้วย
ที่มาภาพ : https://www.webmd.com/children/vaccines/video/vaccines-herd-immunity
https://www.theguardian.com/education/2020/mar/13/coronavirus-school-closures-uk-gdp-ministers-warned
https://www.bbc.com/thai/51911994
ผู้เขียน : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.