พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อน

02-06-2023
(https://www.shutterstock.com/th/image-photo/typhoon-hagibis-heading-towards-japan-october-1527066611)

ภาพถ่ายดาวเทียม พายุไต้ฝุ่นฮากีบิส (Hagibis) ซึ่งสร้างความเสียหายให้ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2562

พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) คือ พายุขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดเมฆ และฝนตกหนัก ก่อตัวขึ้นบริเวณผิวน้ำทะเล และมหาสมุทรในแถบเส้นศูนย์สูตร ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องซาเซลเซียส มีเส้นผ่านศูนย์กลางพายุมากกว่า 100 กิโลเมตร และมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตั้งแต่ 50-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยศูนย์กลางพายุ หรือตาพายุมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 5-50 กิโลเมตร และเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมากที่สุด จึงมีท้องฟ้าโปร่ง ลมสงบ และไม่มีฝน  

ทิศทางการหมุนของพายุหมุนเขตร้อนเป็นไปตามแรงคอริออลิส (Coriolis Force) หรือแรงที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก โดยในซีกโลกเหนือ พายุหมุนเขตร้อนจะพัดเข้าหาศูนย์กลางในทิศทวนเข็มนาฬิกา และในซีกโลกใต้ พายุหมุนเขตร้อนจะพัดเข้าหาศูนย์กลางในทิศตามเข็มนาฬิกา

ทั้งนี้ นักอุตุนิยมวิทยา (Meteorologist) จำแนกพายุหมุนเขตร้อน ตามความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางได้ทั้งหมด 3 แบบ คือ

  1. พายุดีเปรสชั่น (Tropical Depression) เป็นพายุที่มีความเร็วลมต่ำที่สุด มีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีตาพายุที่ชัดเจน ทำให้เกิดกระแสลมไม่แรงนัก แต่อาจทำให้ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน
  2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) เป็นพายุที่ก่อตัวขึ้นในทะเลก่อนเคลื่อนที่เข้าหาฝั่ง มีความเร็วลมไม่เกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดลมแรง และฝนตกหนัก
  3. พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) หรือ เฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นพายุที่มีความเร็วลมมากกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีตาพายุชัดเจน บริเวณตาพายุจะมีสภาพอากาศโปร่งใส อาจมีฝนตกเพียงเล็กน้อยและกระแสลมสงบ ในขณะที่สภาพรอบนอกของตาพายุนั้นมีความรุนแรงมาก

 

เรียบเรียงโดย: เกียรติศักดิ์ ศิริมั่น  อาสาสมัคร กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

อ้างอิงข้อมูล

3 สายพันธุ์ พายุที่พบบนโลก. 2022, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/mitrearth/photos/pcb.1206373119929520/1206372939929538/?type=3&theater [1 ธันวาคม 2565]

พายุหมุนเขตร้อน. 2564, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/33795 [1 ธันวาคม 2565]

ประเภทของพายุ และการกำเนิดพายุ. 2019, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://ngthai.com/science/24598/thunder-origin/ [1 ธันวาคม 2565]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน